ถึงมือศาลรธน. กกต.ขอวินิจฉัยปมนำต่างด้าวคำนวณส.ส.พึงมี-แบ่งเขต 

15 ก.พ. 2566 | 07:53 น.

กกต.ยื่นคำร้องถึงมือศาลรธน. ขอวินิจฉัยการคำนวณส.ส.พึงมี-แบ่งเขต ส.ส. นับรวมราษฎรไม่มีสัญชาติไทยด้วยหรือไม่ 

วันนี้ (15 ก.พ.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำคำร้องของกกต.ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี  ตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญ2560 แก้ไขเพิ่มเติม( ฉบับที่ 1) 2564 

หลัง กกต. เห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของ กกต. ตามมาตรา 210 (2)  ของรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 1 ) พุทธศักราช 2564  ประกอบมาตรา 7(2)   มาตรา 41 (4 )  และมาตรา 44   แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561  และข้อ  15  ของข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562   

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. โดยนับรวมคนต่างด้าวด้วยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า เนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่1) พ.ศ.2564 ม.86 ประกอบการแก้ไข ม.26 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่กฎหมายให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น หมายความรวมถึงจำนวนราษฎรผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือหมายความรวมถึงราษฎรที่เป็นคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ อย่างไร

ความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากกกต.อ้างว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่รวมทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ในขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นว่า ควรนับรวมเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น 

ความไม่ชัดเจนดังกล่าวจึงอาจเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การสั่งเลือกตั้งเป็นโมฆะ  และยังเป็นผลให้ กกต. อาจต้องโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

"ดังนั้นเพื่อความชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหากันในอนาคต จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ใช้อำนาจตาม ม.230 ประกอบ ม.231(1) ของรัฐธรรมนูญ 2560 เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยโดยเร่งด่วน”

เมื่อถามว่าหากกกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความเรื่องดังกล่าวแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการต่อหรือไม่ นายปิยะ กล่าวว่า ต้องดูว่าประเด็นดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่จะสามารถส่งเรื่องนี้ได้หรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไของค์ประกอบผู้ตรวจก็อาจจะส่งศาลรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาแล้วไม่เข้าเงื่อนไขก็จะไม่ส่ง