เร่งเครื่องเลือกตั้ง 2566

08 ก.พ. 2566 | 23:39 น.

เร่งเครื่องเลือกตั้ง 2566 : ไม่เกิน 7 พ.ค.2566 นี้ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้ออกมาชี้ชะตาอนาคตของประเทศชาติอย่างแน่นอน

กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. 2566

สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้มีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และ แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 

วาระของรัฐบาลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 มี.ค.2566 นี้ หากอยู่ “ครบเทอม”คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีระยะเวลาสำหรับเตรียมการจัดเลือกตั้งประมาณ 45 วัน แต่หากมีการ “ยุบสภา” ก่อน การเลือกตั้งก็จะจัดขึ้นภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

โดยเบื้องต้น กกต.ได้วางแผนจัดการเลือกตั้งขึ้นไม่เกินวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค.2566 นี้  

ภายหลังกฎหมายเกี่ยวกับเลือกตั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 กกต. ก็ได้มีส่งหนังสือด่วนถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดต่าง ๆ และกรุงเทพมหานคร แจ้งถึงจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่พึงมีในแต่ละพื้นที่ พร้อมให้ สำนักงาน กกต.ในแต่ละพื้นที่ เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้า

กกต.ได้คำนวณให้มี ส.ส. 1 คน ต่อราษฎร 165,428.5975 คน โดยใช้ข้อมูลจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นฐานในการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พึงมีในแต่ละพื้นที่ 

ทบทวนแบ่งเขต 5 จว. 

ขณะที่เมื่อวันที 6 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. อออกมาเปิดเผยว่า สำนักงานกกต.ได้พิจารณารูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ที่ได้ปิดประกาศ และเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.จังหวัด พบว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.ของจังหวัดชลบุรี  เชียงใหม่ ปัตตานี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานคร(กทม.) มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 

จึงเห็นว่า เพื่อให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงมีหนังสือแจ้งไปยัง ผอ.การเลือกตั้งทั้ง 5 จังหวัดดังกล่าว ให้จัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเพิ่มเติม  โดยให้มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนด และผลต่างของจำนวนราษฎรระหว่างเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10  

จากนั้นให้ปิดประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ดังกล่าว ระหว่างวันที่ 7-16 ก.พ. เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด ได้แสดงความคิดเห็น และรายงานมายังสำนักงาน กกต. อย่างช้าภายในวันที่ 20 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาเคาะว่าจะใช้รูปแบบใด ก็ยังอยู่ในระยะเวลาที่ กกต. วางแผนไว้คือ ภายใน 20-28 ก.พ. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 5 จังหวัดที่ กกต. สั่งให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นั้น รวมเขตเลือกตั้งทั้งสิ้น 66 เขต แบ่งเป็น กทม. 33 เขต เชียงใหม่ 11 เขต ชลบุรี 10 เขต สมุทรปราการ 8 เขต และ ปัตตานี 4 เขต

                                 เร่งเครื่องเลือกตั้ง 2566

กกต.เคาะงบหาเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง ในวันพุธที่ 8 ก.พ.นี้ กกต.จะมีการหารือเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้พรรคการเมืองพิจารณา  
แบ่งเป็นกรณีสภาอยู่ครบวาระตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561มาตรา 64 (1) กำหนดให้คิดคำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปในช่วง 180 วันก่อนวัน ที่กกต. ประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้งนั้น กกต.จึงกำหนดว่าผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละ 6,528,375 บาท แบบบัญชีรายชื่อหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 152,327,758 บาท 

ส่วนถ้าเป็นกรณี “ยุบสภา” ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตใช้จ่ายได้คนละ 1,740,900 บาท และแบบบัญชีรายชื่อ หรือ พรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 40,620,999 บาท

เร่งตั้งสาขาพรรค

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากข้อมูลพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 3 ธ.ค.2565 จำนวน 86 พรรค พบว่า ในระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งส.ส. ได้ครบ 77 จังหวัด เนื่องจากยังไม่มีสาขา หรือ ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ตามที่ มาตรา 47 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่2) 2566 กำหนด 

โดย 10 พรรคที่ส่งผู้สมัครได้มากที่สุดในขณะนี้ ประกอบด้วย 1.พรรคภูมิใจไทย 73 จังหวัด 2.พรรคประชาธิปัตย์ 72 จังหวัด 3.พรรคก้าวไกล 71 จังหวัด 4.พรรคเพื่อไทย 69 จังหวัด 5.พรรคเสรีรวมไทย 68 จังหวัด 6.พรรคพลังประชารัฐ        64 จังหวัด 7.พรรคเศรษฐกิจไทย 59 จังหวัด 8.พรรคคลองไทย 55 จังหวัด 9.พรรครวมไทยสร้างชาติ 50 จังหวัด 10.พรรคไทยสร้างไทย 48  จังหวัด

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ ทุกพรรคการเมืองกำลังเร่งจัดตั้งสาขา และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อส่งคนลงเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด

“นาฬิกาเลือกตั้ง” ของ กกต.เดินหน้าแล้ว ขณะที่แต่ละพรรคการเมืองก็มีทั้งออกนโยบายหาเสียง เปิดตัวผู้สมัคร และ เดินสายลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก 

ไม่เกิน 7 พ.ค.2566 นี้ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะได้ออกมาชี้ชะตาอนาคตของประเทศชาติอย่างแน่นอน...