“วิษณุ”สอนมวย กกต. แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 1 เดือนควรเรียบร้อย

30 ม.ค. 2566 | 06:26 น.

“วิษณุ”เบรกยุบสภา หากกกต.ยังแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เรียบร้อย สอนมวย กกต.แบ่งเขต 1 เดือนควรเรียบร้อย เตรียมรายงาน ครม.พรุ่งนี้เกี่ยวกับไทม์ไลน์เลือกตั้ง ส.ส. ด้าน “แสวง”ปัดยื้อขอเวลา 45 วัน เอื้อ รทสช.

วันนี้(30 ม.ค.65) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังหารือกับ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หลังร่างพระราชบัญญัติกฎหมายลูก 2 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศบังคับใช้ กรณี กกต.จะขอเวลา 45 วัน เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ก่อนยุบสภาได้หรือไม่  ว่า หากเป็นเช่นนั้น มองว่ากกต.คิดถึงความสะดวกมากไป  บางครั้งการยุบสภาเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่จะยึดความสะดวกไม่ได้ ดังนั้น ต้องทำเพื่อให้จัดการเลือกตั้งได้ เวลา 45 วันสามารถทำได้สบาย 

แต่จากการหารือกับ กกต. ได้ความว่า สิ่งที่เป็นปัญหา คือ กกต.ต้องแบ่งเขตเลือกตั้ง จากเดิม 350 เขต เพิ่มเป็น 400 เขต และยังมีประชากรที่เพิ่มขึ้นบางจังหวัด ขณะที่บางจังหวัดประชากรลดลง ทำให้กระทบกับจำนวน ส.ส. การแบ่งเขตหากแบ่งตามใจชอบวันเดียวก็เสร็จ แต่กฎหมายกำหนดว่า การแบ่งเขตจะต้องส่งให้แต่ละจังหวัดเพื่อให้กกต.จังหวัด ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และพรรคการเมืองในจังหวัดนั้นๆ ด้วย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

“คือเดือนกุมภาพันธ์ทั้งเดือน  ที่มี 28 วัน แต่อาจจะทำได้เร็วกว่านั้น หากแต่ละจังหวัดรายงานผลกลับมาเร็ว ไม่มีปัญหาอาจจะใช้ 25 วันก็ได้ หลังจากนั้นจะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าจะให้ยืดไปก็จะไปครบกับวันปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พอดี”

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แต่จะให้เร็วอย่างที่หลายคนนึก เพราะเห็นว่ากฎหมายลูกประกาศบังคับใช้แล้ว ก็ยุบสภาได้แล้วหรือเห็นว่ารัฐบาลเงียบ มองเป็นการยื้อเวลา ต้องบอกเลยว่า กกต.ยังจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะการแบ่งเขตยังไม่เรียบร้อย ที่ตนชี้แจงเพราะต้องการบอกประชาชนทั้งหมด และพรรคการเมืองต่างๆ ให้ได้รับทราบ และจะแจ้งให้ ครม.รับทราบในวันนี้พรุ่งนี้ (31ม.ค.66 )

ผู้สื่อข่าวถามว่าหลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ สามารถยุบสภาได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ถึง 45 วัน และได้ย้ำกับเลขาธิการกกต.ไปว่าบางครั้ง การเมืองก็ไม่สามารถเอาสบายได้ เพราะการยุบสภา เป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าจำเป็นต้องยุบในวันนี้ และบอกว่ายังไม่ครบ 45 วัน ให้รอไปก่อนก็คงรอไม่ได้ แต่ถ้ารอได้ก็ไม่ยุบ อยู่ไปจนสถาครบวาระ ขึ้นอยู่กับเหตุที่เกิดขึ้น 

“แต่ทั้งหมดไม่สามารถยุบสภาก่อนแบ่งเขต เพราะหากยุบปั๊ป เครื่องจะเดินทันที ต้องประกาศวันเลือกตั้ง แต่พระราชกฤษฎีกายุบสภา ที่เสนอโดยรัฐบาลจะไม่กำหนดวันเลือกตั้ง เพราะคนกำหนดวันเลือกตั้งคือ กกต. และจะประกาศวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ก็ต้องประกาศเขตเลือกตั้งก่อน หากแบ่งเขตแบบซิกแซกบ้านอยู่ซอยเดียวกันแต่แบ่งคนละเขต จะเรียกแบ่งเขตตามใจชอบ เรียกว่าทฤษฎีแบบกิ้งก่า วางแขนไปทางขาไปทาง เพื่อชิงความได้เปรียบ”

เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลยื้อเวลาในการจัดการเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ยื้อ ไม่ได้อะไรทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นไปตามหลัก ซึ่งกกต.เป็นองค์กรอิสระที่ต้องไปกำหนดเอง

ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดเผยภายหลังเข้าหารือกับ นายวิษณุ ว่า  การเดินทางมาพบในครั้งนี้ ไม่ได้รายงานเรื่องไทม์ไลน์การเลือกตั้ง แต่มาหารือเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คือ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข ที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของ กกต.และพรรคการเมือง  

เมื่อถามว่าจะเป็นไปตามกรอบ 45 วันตามที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เป็นไปกรอบตามกฎหมาย เมื่อถามว่าจะน้อยกว่า 45 วันได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า กกต.ต้องการแบบนั้น แต่ในทางการเมือง เราไม่ทราบว่า สภาจะอยู่ครบวาระ หรือจะยุบสภาก่อน ซึ่งไม่ทราบ แต่กกต.ต้องการเวลาที่กำหนดไว้ 45 วัน หากไม่ได้ก็ต้องมาปรับ แต่ต้องมีเหตุดังกล่าวขึ้นมาก่อน  

เมื่อถามว่าหากเวลาไม่ได้ตามกำหนด 45 วัน จะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ก็จะยากขึ้น คือ ก่อนเตรียมการเลือกตั้ง เพราะเลือกตั้งไม่ได้ยาก  แต่ช่วงเตรียมการจะยาก ซึ่งจะเริ่มได้เมื่อเรามีเขตเลือกตั้ง  

เมื่อถามว่าเลขาธิการกกต.สามารถฟันธงประมาณการณ์ได้หรือไม่ ว่า ควรยุบสภาในช่วงไหน นายแสวง กล่าวว่า ไม่สามารถฟันธงได้ เพราะเราเป็นผู้ใช้กฎหมาย และปรับให้เข้ากับสถานการณ์  ซึ่งในการหารือกับนายวิษณุ ไม่ได้พูดเรื่องการยุบสภา  

เมื่อถามว่า นายวิษณุ ว่าอย่างไรกับการหารือในวันนี้ นายแสวง กล่าวว่า ได้มาชี้แจงในสิ่งที่กกต.ต้องทำ ส่วนท่านจะทำในเรื่องใดเป็นเรื่องของรัฐบาล  
เมื่อถามว่าจากการพูดคุยกับ นายวิษณุ มีข้อกังวลเรื่องใดบ้าง นายแสวง กล่าวว่า ไม่มี เพราะขณะนี้มีกฎหมายบังคับใช้แล้ว ก็จะเดินไปตามขั้นตอน  

เมื่อถามว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งจะประกาศได้เมื่อไหร่ นายแสวง กล่าวว่า เข้าใจว่าทุกพรรครออยู่ ก็จะเร่งทำให้เร็วที่สุด เพราะอยากให้เสร็จเร็ว เพื่อนำข้อมูลเจตต่างๆ ไปทำงานเหมือนกัน ต้องใช้คณะกรรมการประจำหน่วย ที่ต้องใช้ในวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องใช้คนเป็นล้านคน  

เมื่อถามว่าประชาชนมีความกังวลเรื่องการแบ่งเขต ที่แปลกประหลาด นายแสวง ยืนยันว่า ไม่ได้แปลกประหลาด เพียงแต่ไม่ถูกใจบางพรรค บางคน ที่มีพื้นที่ไม่ได้ถูกแบ่งให้ได้ประโยชน์ แต่กกต.ทำตามกฎหมาย  

เมื่อถามว่าหากยุบสภาหลังวันที่ 15 มี.ค. กกต.พร้อมที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายแสวง ตอบว่า อยากจะให้มีการเตรียมความพร้อม ส่วนหน่วยงานก็ต้องไปพิจารณา อาจจะมีข้อจำกัดทางการเมือง แต่กกต.อยากเตรียมการ ไม่ให้มีเงื่อนไข 

ส่วนประเด็นที่หลายพรรคการเมือง มีตัวแทนประจำเขตไม่ครบ จะส่งผลต่อไทม์ไลน์โดยรวมหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ตอนนี้แต่ละพรรคก็เร่งจัดตั้งตัวแทนสาขาพรรค เพื่อทำไพรมารีโหวตอยู่แล้ว เหมือนกฎหมายเดิม แต่ที่เบากว่ากฎหมายเดิม คือ ไม่ต้องมีตัวแทนครบทุกเขตเลือกตั้ง  

เมื่อถามถึงกรณีที่ประชุมครม.ประกาศให้วันที่ 5 พ.ค.66 เป็นวันหยุดพิเศษ ส่งผลให้มีวันหยุดยาว 4-7 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันที่คาดการณ์จะมีการเลือกตั้งนั้น นายแสวง กล่าวว่า นายวิษณุ ไม่ได้หารือเรื่องนี้กับตน แต่มองว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงไหน ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดกี่วันก็ตาม หากรู้ว่าเป็นวันเลือกตั้ง ก็อยากให้ไปเตรียมเลือกตั้งกันเยอะๆ  

เมื่อถามว่ากกต.มีข้อห่วงใยใดที่ส่งถึงพรรคการเมืองหรือไม่ นายแสวง  เห็นว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พรรคก็เข้าใจกฎหมาย อาจมีช่วงแรกๆ ที่ต่างคนต่างไม่ชิน การบังคับใช้ที่ยาว 180 วัน ซึ่งก่อนหน้านี้บังคับแค่ 45-60 วัน 

“วันนี้ได้มีการพูดคุยครบทุกกลุ่ม โดยช่วงเช้าได้หารือกับกลุ่มไอลอร์ จากนั้น 10.00 น. พูดคุยกับ นายวิษณุ  และหลังจากนี้ช่วงบ่าย จะพูดคุยกับคณะกรรมการเลือกตั้งชุดใหญ่  ซึ่งเรามีแผนทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนจะเลือกตั้งวันไหนต้องรอนายกรัฐมนตรี” 

เมื่อถามว่าแนวโน้มจะได้เลือกตั้งในช่วง เม.ย.หรือ พ.ค. นายแสวง กล่าวว่า ไม่ทราบ ขณะนี้ยังไม่มีไทม์ไลน์   

เมื่อถามว่ามีเสียงวิจารณ์ว่าการที่ กกต.ขอเวลา 45 วัน เป็นการช่วยยื้อให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช. นายแสวง ตอบว่า คนก็คิดไปได้ทั้งนั้น กกต.ทำงานเพื่อประเทศไทย เคยเห็นหรือไม่ว่า คนยืนอยู่จุดไหนก็จะพูดในสิ่งที่ตัวเอง แต่เรามองทุกอย่างว่ามีเหตุผล หากไม่มีการแบ่งเขต เราจะเลือกตั้งกันอย่างไร ทุกอย่างมีคำอธิบาย แต่คนจะคิดกันก็คิดได้ 

เลขาธิการ กกต. กล่าวด้วยว่า เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทางสำนักงานกกต. เตรียมพร้อมแล้วเรียบร้อย และพยายามทำให้ครบตามกฎหมาย  ไม่ให้มีเงื่อนให้ใครมาท้วง และเป็นที่ยอมรับ ทั้งกฎหมาย และในพื้นที่ พร้อมรับประกันว่าจะทำกฎหมาย ให้เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้แข่งขันทุกคน