ยื้อยุบสภา รอ “รทสช.” แต่งตัวพร้อมเลือกตั้ง?

28 ม.ค. 2566 | 03:10 น.

เปิดเบื้องหลัง “บิ๊กตู่” ยังไม่ยุบสภา คาดรอเวลา “พรรครวมไทยสร้างชาติ” แต่งตัวให้พร้อมสำหรับลงสนามเลือกตั้ง

วันที่ 23 มี.ค.2566 นี้ เป็นวันสุดท้ายของ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” เพราะจะครบวาระ 4 ปี ในการเข้ามาบริหารประเทศ หลังการเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค.2562

ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม น่าจะ “ยุบสภา” ก่อนครบวาระ แต่สถานการณ์ขณะนี้ เริ่มชัดเจนว่า นายกฯ จะ “ไม่ยุบสภา” ก่อนหมดวาระสภาฯ  

เหตุผลแรกเห็นได้จาก การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล ออกมายืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมรับฟังและชี้แจงทุกประเด็นต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งกำหนดมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ.2566  

“นายกฯ ยืนยันความพร้อมที่จะชี้แจงในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการทำงานเกี่ยวกับประเด็นนโยบายเร่งด่วน 12 ประการ ซึ่งถือว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสสำคัญ ที่จะได้ชี้แจงความคืบหน้าและผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย” นายอนุชา ระบุ
 

ปัดตอบปม“สาขาพรรค”


ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ ออกมาตอบคำถามพล.อ.ประยุทธ์ จะทำงานจนครบวาระรัฐบาลถึงวันที่ 23 มี.ค.หรือไม่ว่า “ปกติก็ต้องครบอยู่แล้ว” เมื่อถามว่าจะไม่มีการยุบสภาก่อนใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์ ตอบว่า ตนไม่ทราบ ตนไม่ได้เป็นคนมีอำนาจยุบ ตอบแทนไม่ได้ 

เมื่อถามว่าในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ขณะนี้พรรครวมไทยสร้างชาติตั้งสาขาพรรคครบหรือไม่ นายพีระพันธุ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวว่า “ไม่ได้ครับ วันนี้ผมปฏิบัติงานอยู่ไม่พูดเรื่องการเมือง"


กกต.เบรกยุบสภา

เหตุผลต่อมา ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กล่าวตอนหนึ่งในการจัดอบรมตามโครงการเสริมสร้างการปฏิบัติงานเกี่ยวกับพรรคการเมือง ให้แก่พนักงานสำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดว่า อายุสภาจะครบวันที่ 23 มี.ค.2566 ตามแผนจะเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค.2566 แต่ก่อนที่อายุสภาจะครบ ต้องมีเขตเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี โดยก่อนมีเขตต้องมีกฎหมาย และระเบียบ ซึ่งขณะนี้ระเบียบ สำนักงาน กกต.ร่างไว้หมดแล้ว แม้ทุกอย่างจะพร้อมแต่ต้องรอกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์


“เราจะมีเวลา 25 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เพื่อแบ่งเขต ทางจังหวัดจะมีเวลาดำเนินการแบ่งเขต 5-7 วัน นับจากอายุสภาสิ้นสุดลง รับฟังความเห็นประชาชน พรรคการเมือง 10 วัน ขั้นตอนการพิจารณาของ กกต.อีก 7 วัน รวม 25 วัน ดังนั้น หากยุบสภาช่วงนี้ก็หวาดเสียวเหมือนกัน เพราะจะไม่มีเขต และสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้เลย” 


มีแค่ 3 พรรคส่งได้ทุกเขต 


นายแสวง ระบุอีกว่า พรรคการเมืองเองก็ต้องทำไพรมารี่โหวต 6-7 ขั้นตอน ประมาณ 20 วัน จึงจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ โดยตามข้อมูลขณะนี้ มีพรรคที่มีสาขา หรือ ตัวแทนครบทุกจังหวัด ซึ่งสามารถส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขต เพียง 3 พรรค

หากพูดตามทฤษฎี ต้องมีเวลา 25+20 วัน ก่อนสภาหมดวาระ ถึงจะทำให้การเลือกตั้งเรียบร้อย โดย 45 วันดังกล่าว จะต้องนับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษา แต่ตอนนี้กฎหมายยังไม่ออก ก็ไม่รู้จะนับวันไหน

“ขณะนี้มีความกังวลอยู่เหมือนกันว่า เราจะมีเวลา 45 วัน ก่อนครบวาระสภา หรือยุบสภาหรือไม่ ซึ่งหากจะให้การเลือกตั้งปลอดภัย ต้องนับจากวันที่ 23 มี.ค. ย้อนขึ้นมา 45 วัน และหากยุบสภาก็จะเร็วขึ้นกว่าเดิม” 

เลขาธิการ กกต.ย้ำว่า ถ้ากฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว “ยุบสภา” เลย จะไม่มีเวลาในการทำงานเลย เพราะหลังยุบสภา 5 วัน ต้องเปิดรับสมัคร แต่เรายังไม่มีเวลาแบ่งเขต และพรรคการเมืองเองก็จะไม่มีเวลาทำ “ไพรมารี่โหวต” ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพรรคการเมืองที่มีสาขา หรือ ตัวแทนครบทุกจังหวัด ซึ่งสามารถส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขต เพียง 3 พรรค คาดว่าประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และ พรรคพลังประชารัฐ

ส่วนพรรคการเมืองอื่นอีก 83 พรรค ในระบบของ กกต. รวมถึง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค และวางตัว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้น เชื่อว่ายังไม่สามารถดำเนินการส่งส.ส.ได้ครบทั้ง 400 เขตได้ รวมถึงอาจยังมีปัญหาเรื่องการทำไพรมารี่โหวต ที่มี 6-7 ขั้นตอน จึงจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้