เทียบการเข้าสู่อำนาจการเมือง พล.อ.ประยุทธ์-จอมพลสฤษดิ์

11 ม.ค. 2566 | 13:10 น.

“ย้อนไปตั้งแต่ปี 2562 เราเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่มีงานของเราที่ทำไม่จบ ผมจึงจำเป็นก้าวมาสู่ตรงนี้ หลายอย่างต้องทำต่อ ทำใหม่ ทำเพิ่ม ทำอย่างไรให้เดินหน้าไปให้ได้ และในเมื่อตัดสินใจทางการเมืองร่วมกับพรรคนี้ หวังว่ามีโอกาสทำเรื่องต่างๆได้…”

“…วันนี้ที่มายืนตรงนี้ เพราะผมเคารพในกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทย ไม่ได้มาเพราะอยากอยู่ต่อ แต่อยากพูดกับทุกคนว่าประเทศไทยต้องไปต่อ บนพื้นฐาน ความมีศักยภาพ ความมั่นคง เพื่อเดินหน้าสู่การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย " 


เป็นคำประกาศจาก“ บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว หลังเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แบบตลอดชีพ  ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาตสิริกิติ์ ในค่ำคืน วันที่ 9 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา  

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ


แม้การเปิดตัวสุดยิ่งใหญ่ ท่ามกลางแฟนคลับและนักการเมืองจากพลังประชารัฐ (พปชร.) ประชาธิปัตย์ (ปชป.) พลังท้องถิ่นไท และ พรรครวมพลัง ไม่ต่ำกว่า 30 ที่นั่ง ดูเหมือนไม่ได้โรยเหมือนด้วยดอกกุหลาบเหมือน การขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯครั้งแรก ครั้งที่มี “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี อยู่เคียงข้าง

 

เพราะวันนี้ “บิ๊กป้อม”มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  และเป็นแคนดิเดตนายกฯพรรค พปชร.ในสนามสนามเลือกตั้ง   ไม่ต่างจากพรรคภูมิใจไทย  และประชาธิปัตย์ ที่เคยกอดคอร่วมรัฐบาลกันมายาวนาน  แต่หลังเลือกตั้งใหญ่ปีนี้ ย่อมไม่มีใครหลีกทางให้ใคร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเข้าสู่อำนาจ

ของ “พล.อ.ประยุทธ์ ”


พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้นำคณะรัฐประหารคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ยึดอำนาจแล้วเลือกรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

 

เส้นทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์ ”เริ่มต้นจากเหตุการณ์ประท้วง ต่อต้านการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม "ฉบับสุดซอย" รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  การชุมนุมลุกลามไปบนท้องถนนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลาออก


ต่อมา ศาลรธน. มีมติให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ขณะนั้น พ้นตำแหน่ง เนื่องจากการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่กี่วันต่อมา กองทัพก็ทำรัฐประหาร  

 

วันที่ 21 ส.ค. 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ใช้เวลาเพียง 15 นาที ลงมติ เห็นชอบด้วยแต่งตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 191 เสียง งดออกเสียง 3   และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ 24 ส.ค. 2557

 

พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศ "คืนประชาธิปไตยให้ประเทศ" ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562  และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ   แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค  

 

วันที่ 5 มิ.ย. 2562 รัฐสภามีมติท่วมท้นเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯคนที่ 29 สมัย 2 เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ด้วยคะแนน 500 เสียง จาก 750 เสียง  สมาชิกวุฒิสภาที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งมาก่อนหน้าพร้อมใจโหวตในทางเดียวกัน  


 พรรคพรรคพลังประชารัฐ จะถูกมองว่า “พรรคร่างทรงทหาร ” แม้ช่วงแรกนายอุตตม สาวนายน นั่งหัวหน้าพรรคเมื่อ 29 ก.ย. 2561   และขณะนี้ “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่แห่ง “ 3 ป.” เข้ามากุมบังเหียนพลังประชารัฐ เต็มตัวเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2563
 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 
“พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

ขณะที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  เข้าสู่อำนาจทางการเมือง  เมื่อปี 2501  โดยการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลโทถนอม กิตติขจร และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ระหว่างปี 2502 – 2506  การเข้ามาของจอมพลสฤษดิ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมาก 


จุดเริ่มจากมาจากเหตุการณ์ประท้วงเมื่อ วันที่ 26 ก.พ. 2500 ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้จอมพล ป.พิบูลสงครามและพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออก เมื่อสถานการณ์ลุกลาม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งจอมพล สฤษดิ์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อควบคุมสถานการณ์

 

แต่จอมพล สฤษดิ์ สั่งไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า " วีรบุรุษมัฆวานฯ " จากเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่ารัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม หมดขาดความชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองแล้ว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงประกาศลาออกจากรมว.กลาโหม  เป็นผบ.ทบ.เพียงเก้าอี้เดียว


วันที่ 13 ก.ย. 2500 จอมพล สฤษดิ์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. ให้รัฐบาลลาออกโดยประกาศผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยคว่า " พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ " 


วันที่ 15 ก.ย.2500 ประชาชนเดินขบวนบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงไปบ้านจอมพล สฤษดิ์  ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็กำลังเตรียมจับกุมจอมพล สฤษดิ์ ในข้อหากบฏ แต่ไม่ทันในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ นำกำลังรัฐประหารรัฐบาล แล้วตั้งพจน์ สารสินขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

 

หลังการรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ  และจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ในวันที่ 15 ธ.ค. 2500 ซึ่งพรรคเสรีมนังคศิลาได้ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งอีกครั้ง   และมอบหมายให้นาย สุกิจ นิมมานเหมินท์ จัดตั้งพรรคสหภูมิ ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองที่ต้องการสืบทอดอำนาจของทหารพรรคที่สอง ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสหภูมิ ได้ ส.ส. จำนวน 44 คน จาก 160 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 29 คน และพรรคเสรีมนังคศิลาเหลือ ส.ส. เพียง 4 คน

 


จากผลการเลือกตั้ง แม้พรรคสหภูมิจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งในสภา ทำเกิดปัญหาในการบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ จึงตัดสินใจยุบพรรคสหภูมิ และตั้งพรรคชาติสังคมขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรค  พลโทถนอม กิตติขจร นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และพลโทประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค


แต่รัฐบาลใหม่ที่มี พลโท ถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศด้วยความยากลำบาก จอมพลสฤษดิ์ จึงได้ทำรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พร้อมกับออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ส่งผลให้ทั้งพรรคเสรีมนังคศิลา พรรสหภูมิ พรรคชาติสังคม ต้องสิ้นสุดลง

 

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบันทึกไว้ชัดเจนว่า พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของทหาร ล้วนแล้วแต่มีอายุไม่ยืนนาน เช่นพรรคเสรีมนังคศิลา มีอายุ 2 ปี 83 วัน พรรคสหภูมิ มีอายุ 6 เดือน พรรคชาติสังคมมีอายุ 1 ปี พรรคสามัคคีธรรมมีอายุ 7 เดือน