เปิดระเบียบทรงผมใหม่ตำรวจยุค“บิ๊กต่อ”

17 ต.ค. 2566 | 06:59 น.

ผบ.ตร.ปรับระเบียบทรงผมตำรวจใหม่ ยกเลิก 3 ด้าน ประยุกต์ให้เหมาะสมสถานการณ์ ด้านบนยาวไม่เกิน 5 ซม. ด้านข้าง และหลังไม่เกิน 1 ซม. ผู้ปฏิบัติงานสืบหาข่าว งานยาเสพติด พื้นที่เสี่ยงไว้ผมรองทรงสูงได้ ย้ำเมื่อแต่งเครื่องแบบห้ามกิริยาไม่เหมาะสม หยาบคาย เหยียดหยามประชาชน

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้ลงนามในระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อมีเครื่องแบบ พ.ศ.2566 ลงวันที่ 17 ต.ค.2566 

โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นการปรับปรุงระเบียบการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ความจำเป็นในการปฏิบัติงานปฏิบัติหน้าที่ อนุมัติทรงผมข้าราชการตำรวจ ให้ผมด้านบนความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ด้านข้างและด้านหลังความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร

กรณีข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยที่ผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ตำแหน่งผู้บังคับการขึ้นไปกำหนด หรือที่ปฏิบัติหน้าที่การสืบสวน หรือ การข่าว หรือ การป้องกันปราบปรามยาเสพติด เมื่อแต่งเครื่องแบบให้ไว้ผมรองทรงสูงได้

กรณีที่ไม่สามารถไว้ผมรองทรงสูงตามที่กำหนดได้ ให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตำแหน่งผู้กำกับการขึ้นไปเป็นผู้อนุญาต โดยการไว้ผมดังกล่าวจะต้องมีความเหมาะสม สะอาด และเรียบร้อย

ข้าราชการตำรวจหญิงเมื่อแต่งเครื่องแบบ ยังคงไม่ปล่อยให้ผมยาวประบ่า หรือ ปรกบ่าจนปิดอินทรธนู หากไว้ผมยาวต้องขมวดปลายผมให้เรียบร้อย ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการขมวดปลายผม ให้ใช้สีดำเพียงสีเดียว หากจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์ตกแต่งทรงผมประกอบ ก็ควรใช้กิ๊บหรือริบบิ้นขนาดเล็กสีดำเพียงสีเดียว โดยห้ามไว้ผมเปีย ผมแกละ ผมทรงหางม้า หรือทรงอื่นที่ไม่เหมาะสม

สำหรับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจราชองครักษ์ และข้าราชการตำรวจที่แต่งหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย ให้ปฏิบัติตามที่หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ถือปฏิบัติ ส่วนผูัที่ทำหน้าที่สืบสวนหาข่าวในการถวายความปลอดภัย หรือ อารักขาบุคคลสำคัญ ให้แต่งกายแบบสากลนิยม

ทั้งนี้ ข้าราชการตำรวจทุกคนจะต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด เมื่อแต่งเครื่องแบบให้แต่งกายให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงการแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในสาธารณะ ตลอดจนไม่แสดงกิริยาวาจาใดๆ ในลักษณะหยาบคาย ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามประชาชน

โดยให้สำนักงานจเรตำรวจ หรือผู้บังคับบัญชา ตรวจสอบกวดขันการปฏิบัติตามระเบียบนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อความเป็นระเบียบวินัยของข้าราชการตำรวจสู่สายตาประชาชน

โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า การปรับเปลี่ยนระเบียบ ตร. ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อมีเครื่องแบบ พ.ศ.2566 ดังกล่าว เป็นแนวนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่ต่อยอดจากแนวคิดนโยบายของผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. ในการลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่

แล้วเห็นปัญหา รับฟังปัญหาของผู้ปฏิบัติ นำมาปรับประยุกต์ ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เกิดความปลอดภัยแก่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานและประชาชน