รายงานพิเศษ : เบื้องลึก “ต่อศักดิ์” ผบ.ตร. “ความมั่นคง-สถาบัน”

28 ก.ย. 2566 | 04:20 น.

รายงานพิเศษ : เบื้องลึกที่ประชุม ก.ตร. ตั้ง “ต่อศักดิ์” อาวุโสน้อยสุด เป็น ผบ.ตร.  นายกฯเสนอเอง ยกเหตุผล ต้องสนองนโยบายรัฐบาลดูแลความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ  "เอก" เอาไม่อยู่ค้าน 2 รอบ

การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ( ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2566 ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมแต่งตั้ง ผบ.ตร.โดยนายกรัฐมนตรีเสนอชื่อ "บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล" รอง ผบ.ตร. ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ตำรวจอีกครั้ง

เมื่อผลการประชุม ก.ตร.มีมติเสียงข้างมาก 9 -1-2 เสียง เห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร.คนต่อไป

"9 เสียง" กตร.เห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอ

"1 เสียง" ลงมติไม่เห็นชอบ คือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ

"2 เสียง" ลงมติงดออกเสียง คือ นายประทิต สันติประภพ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ข้อมูลของสายข่าว กตร.ระบุว่าการประชุมเพื่อพิจารณาผู้ที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีการถกเถียงกันค่อนข้างมา มีการยกเหตุผลมาอธิบายกันมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ถึงขนาดต้องประชุมนอกรอบในห้องเล็กของ ก.ตร.

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการประชุม ก.ตร. นายกรัฐมนตรี ได้ขอหารือกับคณะกรรมการ ก.ตร.ทั้งหมด ยกเว้น "บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์" รอง ผบ.ตร.-"บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล" รอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็น คณะกรรมการ ก.ตร.โดยตำแหน่ง เพราะถือว่าเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ที่มีส่วนได้เสีย

โดยนายกฯได้ขอหารือนอกรอบที่ห้องรับรอง ตรงข้ามกับห้องประชุมศรียานนท์ บนชั้น 2 ของอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การหารือนอกรอบของ กตร.ใช้เวลาพูดคุยกันราว 1 ชั่วโมง

นายกรัฐมนตรี จึงได้สอบถามกับ คณะกรรมการ ก.ตร.ว่า "ถ้าหากผมเสนอ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ขึ้นเป็น ผบ.ตร.จะมีแรงต้านไหม"

ผลคือ...เงียบ

นายกฯจึงปิดการหารือนอกรอบ

คณะกรรมการ ก.ตร.ทั้งหมด เริ่มเข้าห้องประชุมศรียานนท์ เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.กันต่อ

โดยนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมได้เปิดโอกาสให้ คณะกรรมการ ก.ตร.แต่ละคนลุกขึ้นอภิปรายจนครบทุกคน

ปรากฎว่า พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ (อดีตรอง ผบ.ตร. ที่เคยเป็นตัวเต็งแข่งกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ในช่วงนั้นและพ่ายแพ้ไป) พยายามชี้แจงเหตุผลในข้อกฎหมายตามมาตรา 78 ของพรบ.ตำรวจ โดยเสนอว่า ข้อกฎหมายระบุว่า การพิจารณาแต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ยึดหลักอาวุโส มีความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรม ดังนั้น การพิจารณาแต่งตั้งต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ

เมื่อมีข้อคิดเห็นเชิงคัดค้านจาก พล.ต.อ.เอก ที่เป็น ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี จึงขอให้ฝ่ายกฎหมาย ก.ตร.ชี้แจง และให้นำเสนอคุณสมบัติของรองผบ.ตร.ทั้ง 4 นาย ที่เป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของหลักอาวุโส ความรู้ความสามารถ

นายกฯ และ ก.ตร.ใช้เวลาในการรับฟังข้อมูลทั้งหมดเป็นช่วงเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง

จากนั้น นายกรัฐมนตรีจึงพูดในที่ประชุมว่า "ได้รับฟังข้อมูลเรื่องคุณสมบัติ อาวุโส ความรู้ความสามารถของทั้งหมดแล้ว ผมขอเสนอ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ"

นายกฯ ให้เหตุผลว่า “แคนดิเดต ผบ.ตร.ทั้ง 4 ท่าน มีอาวุโสในทางราชการและการขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารที่ต่างกันไม่มากนัก ทุกคนมีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน ผ่านงานมาทุกรูปแบบ แต่ "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" คนใหม่ จะต้องทำงานสนองนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ จึงมั่นใจว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สามารถทำงานส่วนนี้ได้ดี

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ พยายามแสดงความเห็นคัดค้าน และให้ข้อเสนอแนะอีกครั้ง โดยเน้นย้ำในเรื่องของประสบการณ์ ความรู้ความสามารถของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ โดย พล.ต.อ.เอก ระบุว่า ประสบการร์การทำงานยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับ 3 รอง ผบ.ตร.ที่ผ่านงานบริหารและการสืบสวน สอบสวน ปราบปราม

ทว่า นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันในหลักการว่า การเสนอชื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นดุลยพินิจและอำนาจโดยตรงของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร. อีกทั้ง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ก็ไม่ได้ระบุว่า จะต้องยึดหลักอาวุโสเพียงอย่างเดียว แต่ให้คำนึงถึงหลักความรู้ ความสามารถในการทำงานควบคู่กันไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันของที่ประชุม ก.ตร. นายกรัฐมนตรี จึงขอให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ชี้แจงเรื่องคุณสมบัติของ 4 รอง ผบ.ตร. ที่เป็น แคนดิเดต ให้คณะกรรมการ ก.ตร.ได้รับฟังอีกครั้งเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ทาง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ผบ.ตร.ได้ชี้แจงให้เห็นว่า การทำงานที่ผ่านมา ได้มอบหมายงานให้ รอง ผบ.ตร. แต่ละคนรับผิดชอบด้านใดบ้าง ผลงานเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่รับผิดชอบด้านงานป้องกันและปราบปราม ที่ดูเสมือนว่า จะทำงานได้ดี จึงได้แรงสนับสนุนจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ มากกว่า แคนดิเดต คนอื่น

จากนั้น ประธานที่ประชุม ก.ตร.ได้เปิดโอกาสให้ คณะกรรมการลงมติโหวต "โดยเปิดเผย ด้วยการยกมือสนับสนุนข้อเสนอ" ผลปรากฏว่า ก.ตร. 9 เสียง เห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอ แม้แต่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นกรรมการ กตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นประธานการตรวจสอบคดีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.ด้านสืบสวนสอบสวน ก็ลงมติเห็นชอบ

มีเพียง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ลงมติไม่เห็นชอบ

ขณะที่ นายประทิต สันติประภพ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ลงมติงดออกเสียง และนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานก็ลงมติ งดออกเสียง เพราะผลโหวตลงคะแนนเลือก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร.เสียงขาดแล้ว

ทำให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รายชื่อ "ก.ตร." ชุดแต่งตั้ง "ผบ.ตร." คนใหม่

 

โดย ต้นกล้า