รายงานพิเศษ : ตำนาน“รอง ผบ.ตร.”อาวุโสน้อย “วัชรพล” ปฏิเสธขึ้น ผบ.ตร.

27 ก.ย. 2566 | 13:02 น.

ประเพณีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. เคยถูกจารึกให้ตำรวจได้จดจำ สมัยปี 2552 หลัง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เกษียณ ก.ต.ช.ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน ไม่สามารถสรรหา ผบ.ตร.ได้ถึง 2 ครั้ง แต่กลับมี รองผบ.ตร.อาวุโสน้อยสุด ปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่ง : รายงานพิเศษ โดย...ต้นกล้า

27 ก.ย. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. 2566 ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม 

การประชุมเริ่มต้นตั้งแต่ 14.00 น. ก่อนที่ประชุมจะมีมติในเวลา 16.28 น. ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. (ด้านป้องกันและปราบปราม) เป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆ ที่มีอาวุโส ในการดำรงตำแหน่งลำดับที่ 4 จาก รอง ผบ.ตร. 4 คน  ไล่เลียงลำดับการขึ้นตำแหน่งของ รอง ผบ.ตร. ตามอาวุโส ดังนี้

1. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2567

2.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2574

3.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2569

4.พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2567 

สำหรับวาระการประชุมแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในที่ 27 ก.ย. 2566 อยู่ในวาระที่ 65 ซึ่งเป็นวาระสุดท้าย แต่ได้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นวาระแรก โดยรอง ผบ.ตร.ที่เข้าร่วมประชุมมี 2 คน  พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธ์เพ็ชร์ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล  ขณะที่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์  และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ไม่ได้เข้าร่วมประชุม

ต่อมามีการเชิญ 2 รอง ผบ.ตร. ที่เป็นแคนดิเดท ผบ.ตร. ออกจากห้องประชุม เพื่อให้ ก.ตร.พิจารณาหารือ และมีเรียกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงคุณสมบัติแคนดิเดตแต่ละคน และมีการเชิญ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล มาแสดงวิสัยทัศน์ และมีรายงานว่า ที่ประชุม ก.ตร. มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็น ผบ.ตร. ด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 9-1-1 

“มติ 9-1-1” ที่ ก.ตร. มีมตินั้น เป็นการลงมติเห็นชอบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็น ผบ.ตร. 9 เสียง ลงมติไม่เห็นด้วย 1 เสียง คือ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์  ก.ตร. ที่มาจากข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา 22 (ก)

ลงมติงดออกเสียง 1 เสียง คือ รศ.ประทิต สันติประภพ อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ก.ตร.ที่มาจากข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ตามมาตรา 22 (ข)

ส่วนนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ร่วมลงมติในการโหวต  

รวมเสียงผู้เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิลงมติ 12 เสียงครบครับ
จากนั้นในเวลา 17.05 น. นายกฯ ประธานในที่ประชุม ก.ตร. ได้เดินทางออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

                                รายงานพิเศษ : ตำนาน“รอง ผบ.ตร.”อาวุโสน้อย “วัชรพล” ปฏิเสธขึ้น ผบ.ตร.

ขณะที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รอง ผบช.สตม. ในฐานะ โฆษก ตร. กล่าวว่า การประชุม ก.ตร.ครั้งที่ 10/2566 วันนี้ได้คัดเลือกแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ โดยพิจารณารายชื่อเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างขั้นตอนทางธุรการ เพื่อนำความกราบบังคมทูล จึงยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ 

ถึงตอนนี้ จึงเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในการแต่งตั้ง ข้าราชการระดับสูงของตำรวจ ว่า มีความเป็นธรรม มีความสง่างาม ได้ยึดหลักการตามข้อกฎหมายหรือไม่  

ขณะเดียวกันมีกระแสออกมาว่า การข้ามอาวุโส และข้ามหัว รองผบ.ตร. 3 คนมานั่ง ผบ.ตร. ของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ นั้น อาจนำมาสู่การฟ้องร้องตามมาตรา 78 และมาตรา 87 ได้
มาตรฐาน จริยธรรม ประเพณีการปฏิบัติของการแต่งตั้ง นายตำรวจระดับ ผบ.ตร. เคยถูกจารึกให้นายตำรวจได้จดจำกันไว้สมัย ปี พ.ศ. 2552 หลังจากที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เกษียณอายุราชการไป ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ ถึง 2 ครั้ง 2 ครา แต่มี รองผบ.ตร.อาวุโสน้อยสุด ปฏิเสธไม่ขอรับตำแหน่ง

ในช่วงนั้นมี รอง ผบ.ตร.หลายคนที่มีความรู้ ความสามารถที่แตกต่างกันไป จนมีข่าวว่ามีการเจรจาเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ "บิ๊กกุ้ย” รอง ผบ.ตร. นักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 29, ปริญญาโทด้านการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมจากมหาวิทยาลัย และ ปริญญาเอก ด้านอาชญาวิทยา จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต สหรัฐอเมริกา ที่มีภาพความเป็นนักวิชาการ มาดำรงตำแหน่งคนต่อไป เพื่อผ่าทางตัน

แต่ พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ ได้ปฏิเสธไป โดยให้เหตุผลว่า เป็น รอง ผบ.ตร. ที่มีคุณสมบัติในการสืบสวน ปราบปราม และงานโรงพัก น้อยที่สุด มีอาวุโสในการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ “ผบก.- ผบช - ผช.ผบ.ตร. - รองผบ.ตร.” น้อยที่สุด ในบรรดา “รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ที่เป็นแคนดิเดตรุ่นพี่ในขณะนั้น

อีกทั้งตัวเองเป็น รองผบ.ตร. ในวัยแค่ 55 ปี ยังมีอายุราชการเหลืออีกยาวนานถึง 5 ปี จึงอยากให้ รองผบ.ตร. ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ การสืบสวนปราบปราบ มาทำหน้าที่ในสถานการความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง
นายอภิสิทธิ์ จึงมีการ ตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มารักษาราชการผบ.ตร. 2 ครั้ง ช่วงแรก วันที่ 4 สิงหาคม 2552 – 10 สิงหาคม  2552 และช่วงที่สองวันที่ 12 สิงหาคม 2552- 18 สิงหาคม  2552

ต่อมาก็ยังแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไม่ได้ เนื่องจากเป็นสถานการณ์พิเศษในเรื่อง “พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย” จึงมีการตั้ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รักษาราชการ ผบ.ตร. ระหว่างวันที่ 9 กันยายน 2552 – 30 กันยายน 2552

ถึงกระนั้น การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ก็ยืดเยื้อต่อไป จน นายอภิสิทธิ์ ต้องตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการ ผบ.ตร.อย่างกะทันหัน 2 รอบ เพราะตกลงกันไม่ได้ว่า จะหาใครมาแทนที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (9) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 72 (1) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552

ในปี พ.ศ. 2552 พล.ต.อ.ปทีป เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีเกิดเหตุวุ่นวายที่ประชุมอาเซียนซัมมิต ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา จ.ชลบุรี 

พล.ต.อ.ปทีป อยู่ในตำแหน่งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อย่างยาวนาน เป็นระยะเวลาถึงเกือบ 1 ปี จนกระทั่งถึงวันที่ 6 กันยายน  2553 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  

สปิริตจากการปฏิเสธการถูกเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งของ พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ยังถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การแต่งตั้ง ผบ.ตร. 

ไม่ใช่ว่าเขาจะไร้ฝีมือ ประวัติไม่เบาเลยทีเดียว

พล.ต.อ.ดร.วัชรพล ประสารราชกิจ รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งผู้ช่วยนายเวรรองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ ติดยศว่าที่ร้อยตำรวจตรี (ร.ต.ต.) เป็นรองสารวัตรปราบปราม (รอง สวป.) สถานีตำรวจนครบาลพญาไท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2528 

จากนั้นก็ได้เลื่อนตำแหน่งและได้ใกล้ชิดกับการเมืองมากขึ้น ด้วยการเป็น “นายเวรอธิบดีกรมตำรวจ (พล.ต.อ.เภา สารสิน)” และผู้ช่วยนายเวร อธิบดีกรมตำรวจ จากนั้นได้เปลี่ยนมาทำหน้าที่ดูแลด้านปราบปรามยาเสพติด 

ต่อมา พล.ต.อ.ดร.วัชรพล กลับเข้ามาสู่การเมืองอีกครั้ง ด้วยการเป็น “รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง” ในสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี 2534

จากนั้นก็ได้กลับไปสู่หน้าที่ เป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติดและกิจการต่างประเทศอีกครั้ง จนกระทั่งได้ขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ใช้เวลา 18 ปี ในการไต่เต้าถึงชั้นยศ พล.ต.ท.

หลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านกิจการพิเศษ

ในต้นปี 2552 ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทนที่ พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้วยเหตุผลว่ามีความเป็นนักวิชาการมากกว่า 
ในต้นปี 2552 ได้รับเลื่อนยศเป็น พลตำรวจเอก (พล.ต.อ.) และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตนายตำรวจ ของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ คือ รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2557 ยาวถึง 30 กันยายน 2557 ก่อนจะเสนอชื่อ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง รองผบ.ตร.ขึ้นเป็น ผบ.ตร.ในยุค พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รองนายกฯ และรมว.กลาโหม 

ปัจจุบัน พล.ต.อ.วัชรพล ได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มาตั้งแต่ปลายปี 2558