ส่องโควตา "ที่ปรึกษา-เลขาฯรมต." เก้าอี้ขรก.การเมืองรวมพลคนอกหัก

28 ส.ค. 2566 | 10:04 น.

เปิดโควตาตำแหน่งข้าราชการการเมือง พื้นที่ทำงานสำหรับคนอกหักจากเก้าอี้รมต. - สส.สอบตก ทั้ง ที่ปรึกษา-เลขานุการ-ผู้ช่วยรัฐมนตรี-โฆษกฯ-รองโฆษกฯ เก้าอี้ข้าราชการการเมืองเล็กๆ ที่อำนาจหน้าที่ไม่ได้เล็กแน่นอน

"มีทั้งคนสมหวังและผิดหวัง" เป็นการตอบสั้นๆของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถึงการจัดทำโผครม. เศรษฐา 1 ล่าสุด เป็นการบอกถึงโควต้าเก้าอี้ รัฐมนตรี 35+1(นายกฯ) ภายใต้การนำรัฐบาลของนายเศรษฐาที่บอกว่า ไม่ได้สมหวังทุกคน

แต่โดยปกติแล้วบรรดานักการเมืองย่อมรู้ดีว่า คนที่อกหักจากเก้าอี้รัฐมนตรี รวมถึงผู้สมัครส.ส. ที่สอบตกไม่ได้เข้าไปทำงานในสภาผู้แทนฯ ก็ไม่ใช่ว่าจะยอมยกธงขาวหันหลังบ๊ายบายไม่สนใจเก้าอี้ตำแหน่งอื่นในรัฐบาล

เพราะรู้กันดีว่า ยังมีเก้าอี้ตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นๆให้เข้ามานั่งทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับนายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรี อีกมากมายในฝ่ายบริหาร

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

 

ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลไล่เรียงให้เห็นว่า เก้าอี้ของ "ข้าราชการการเมือง" พื้นที่รวมพลของนักการเมืองอกหักยังมีตำแหน่งอะไรอีกบ้าง

ข้อมูลจาก "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง 2535" มาตรา 4 ระบุว่า ข้าราชการการเมืองได้แก่บุคคลซึ่งรับราชการในตําแหน่งข้าราชการการเมือง ดังต่อไปนี้

  1. นายกรัฐมนตรี
  2. รองนายกรัฐมนตรี
  3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
  4. รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
  5. รัฐมนตรีว่าการทบวง
  6. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
  7. รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวง
  8. ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
  9. ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี
  10. ที่ปรึกษารัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
  11. เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
  12. รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
  13. โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
  14. รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
  15. เลขานุการรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
  16. ประจําสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
  17. เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
  18. ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
  19. เลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง
  20. ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวง

 

นั่นหมายความว่า หากท่านเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะผิดหวังจากเก้าอี้รัฐมนตรี แม้คุณจะเป็นส.ส.สอบตก แต่ในเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ยังไงเสีย ก็ยังมีโอกาสที่จะได้เข้ามานั่งทำงานในตำแหน่งข้าราชการการเมืองได้

แต่นั่นก็ขึ้นอยู่ที่ว่าการจัดสรรโควตาภายในรัฐบาลและพรรคการเมืองต้นสังกัดของท่านเองจะเกลี่ยมาถึงหรือไม่

แน่นอนว่าแต่ละตำแหน่งของข้าราชการการเมือง มีความลดหลั่นของเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งมาตามลำดับคล้ายๆกับข้าราชการพลเรือน

ซึ่งฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูล เงินเดือน และเงินประจำตัวแหน่งข้าราชการการเมือง ดังนี้ 

นายกรัฐมนตรี

  • อัตราเงินเดือน 75,590 บาท
  • อัตราเงินประจำตัวแหน่ง 50,000 บาท
  • รวม 125,590 บาทต่อเดือน

รองนายกรัฐมนตรี

  • อัตราเงินเดือน 74,420 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท
  • รวม 119,920 บาทต่อเดือน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

  • อัตราเงินเดือน 73,240 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท
  • รวม 115,740 บาทต่อเดือน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

  • อัตราเงินเดือน 72,060 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท
  • รวม 113,560 บาทต่อเดือน

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (1 อัตรา)

  • อัตราเงินเดือน 63,200 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 18,500 บาท
  • รวม 81,700 บาท

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (เท่ากับจำนวนรองนายกรัฐมนตรี + 3)

  • อัตราเงินเดือน 56,120 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท
  • รวม 70,620 บาท

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (5อัตรา)

  • อัตราเงินเดือน 57,660 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 15,000 บาท
  • รวม 72,660 บาท

ที่ปรึกษา รองนายกรัฐมนตรี /รัฐมนตรี / รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (จำนวนเท่ากับรองนายกและรัฐมนตรี)

  • อัตราเงินเดือน 47,250 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง  10,000 บาท
  • รวม 57,250 บาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (จำนวน 1 อัตรา)

  • อัตราเงินเดือน  47,250 บาท 
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท
  • รวม 57,250 บาท

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  (จำนวน 3 อัตรา)

  • อัตราเงินเดือน 44,310 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท
  • รวม 49,210 บาท

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (จำนวน 30 อัตรา)

  • อัตราเงินเดือน 25,410 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 2,850 บาท
  • รวม 28,260 บาท

เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (เท่ากับจำนวน รมต.สำนักนายกฯ)

  • อัตราเงินเดือน 44,310 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท
  • รวม 49,210 บาท 

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (เท่ากับจำนวนรัฐมนตรีว่าการฯ)

  • อัตราเงินเดือน 44,310 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท
  • รวม 49,210 บาท 

ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง(เท่ากับจำนวนรมช.กระทรวง)

  • อัตราเงินเดือน 39,710 บาท
  • อัตราเงินประจำตำแหน่ง 4,400 บาท
  • รวม 44,110 บาท 

ส่องโควตา \"ที่ปรึกษา-เลขาฯรมต.\" เก้าอี้ขรก.การเมืองรวมพลคนอกหัก

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะนอกจากตำแหน่งข้าราชการการเมืองแล้ว พบว่ายังมีตำแหน่งของ "กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี" ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง โดยปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประจำกระทรวงต่าง ๆ ที่มีให้เข้ามานั่งทำงานอีกประมาณ 30 ตำแหน่ง