ประวัติ"วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ว่าที่ประธานสภา 2566 บนเส้นทางการเมือง 44 ปี

04 ก.ค. 2566 | 02:00 น.

เปิดประวัติ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" หัวหน้าพรรคประชาชาติ เส้นทางการเมือง 44 ปี เป็น ส.ส. จังหวัดยะลา สมัยแรกในสังกัดพรรคกิจสังคม ปี 2522

ประเด็นเก้าอี้ "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" และ "รองประธานสภาผู้แทนราษฎร" ทั้ง 2 คน ปรากฎชัดเจนแล้วหลังจากที่สมาชิกรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ "นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" หรือ "วันนอร์" หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภา "ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทำความรู้จักกับ นายวันนอร์ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

ประวัตินายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือที่รู้จักเรียกกันว่า "วันนอร์"

เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดยะลา เป็นบุตรของนายเจ๊ะอาแว กับนางแวสะปิเยาะ มะทา เป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 10 คน 

การศึกษา

  • มัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
  • มัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร 
  • ปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกระทรวงมหาดไทย 
  • ปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2507 เป็นครูใหญ่โรงเรียนอัตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส
  • พ.ศ. 2512 เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา (ในปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)
  • พ.ศ. 2518 อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • พ.ศ. 2521 รองอธิการบดี สถาบันราชภัฏสงขลาการเมือง

เส้นทางการเมือง

  • พ.ศ. 2522 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดยะลา สมัยแรกในสังกัดพรรคกิจสังคม
  • พ.ศ. 2523 ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.คลัง
  • พ.ศ. 2524 ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม
  • พ.ศ. 2527 ได้ร่วมกับนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง "กลุ่มเอกภาพ" (กลุ่มวาดะห์) และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  • พ.ศ. 2531 ได้นำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ "กลุ่ม 10 มกรา" ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชน และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน และได้รับเลือกตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ 
  • พ.ศ. 2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับพรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ
  • พ.ศ. 2533 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)
  • พ.ศ. 2535 ได้นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยที่ 4 และได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยที่ 5 รวมทั้งดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่ 1
  • พ.ศ. 2537 ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย (กำกับดูแล กรมที่ดิน) การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค)
  • พ.ศ. 2538 ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.จังหวัดยะลา สมัยที่ 6 และได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.คมนาคม ดูแลการแก้ไขปัญหาการจราจร
  • พ.ศ. 2539 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 7 และได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ/ประธานรัฐสภา (24 พฤศจิกายน 2539 – 27 มิถุนายน 2543) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นมุสลิมคนแรกของประเทศที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
  • พ.ศ. 2540 วันที่ 11 ตุลาคม 2540 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ทูลเกล้าถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นได้นำไปประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวนั้น จึงมีผลให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป
  • พ.ศ. 2544 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยที่ 8 พรรคความหวังใหม่ และได้ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม
  • พ.ศ. 2545 สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย
  • พ.ศ. 2547 ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ
  • พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งส.ส.สมัยที่ 9
  • ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13
  • ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ และได้เป็นบุคคลที่พรรคประชาชาติจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี[9]เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 10 (แบบบัญชีรายชื่อ) ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563

วันนอร์ ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อ 2563 ตนเองและคู่สมรสมีทรัพย์สินรวมกันทั้งสิ้น 44,985,766.43 บาท ไม่มีหนี้สิน