เปิดประวัติ “วันนอร์” ว่าที่ประธานสภา “คนกลาง”

03 ก.ค. 2566 | 09:37 น.

เปิดประวัติ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร “คนกลาง” หลังพรรคเพื่อไทย มีมติเห็นชอบส่งชื่อให้พรรคก้าวไกล โหวตสนับสนุน ในวันที่ 4 ก.ค.นี้

วันที่ 3 ก.ค. 2566 พรรคเพื่อไทย(พท.) ได้จัดประชุมส.ส. และ กรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) เพื่อลงมติหาทางออกกรณี การเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร 

หลังการประชุม มีรายงานว่า ที่ประชุม ส.ส. และกรรมการบริหารพรรค เห็นควรเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ต่อคณะเจรจาพรรคก้าวไกล ในการสนับสนุนให้เป็นประธานสภา เพื่อยุติปัญหาและเป็นการหาทางออกให้กระบวนการนิติบัญญัติได้เดินหน้าทำงาน 
 

โดยจะมีการออกแถลงการณ์ในช่วงเย็นวันนี้ ( 3 ก.ค.66 ) และอาจมีการแถลงร่วมกับพรรคก้าวไกล ในช่วงเวลา 20.00 น. ต่อไป 

ทั้งนี้ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภา และ รองประธานสภาอีก 2 คน จะมีขึ้นในวันที่ 4 ก.ค. 2566 นี้

สำหรับ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เกิดวันที่ 11 พฤษภาคม 2487 ที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ปัจจุบันอายุ 79 ปี เป็นบุตรของ นายเจ๊ะอาแว กับนางแวสะปิเยาะ มะทา และเป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 10 คน คือ

1.วันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมือง แกนนำกลุ่มวาดะห์

2.จุฑาทิพย์ มะทา ข้าราชการเกษียณ และที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานอัยการ จังหวัดยะลา

3.มันโซ มะทา ทำธุรกิจฟาร์มแพะที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

4.จุฑารัตน์ วงศ์พานิช ภริยาสุไลมาน วงศ์พานิช อดีตวุฒิสมาชิก

5.อนันต์ มะทา รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา

6.มุขตาร์ มะทา อดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดยะลา ปัจจุบันตำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา

7.ซูการ์โน มะทา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา

8.สูการีย๊ะ ดือราแม ธุรกิจส่วนตัว

9.สาการียา มะทา เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์

10.มยุรี มะทา ธุรกิจส่วนตัว

                           วันมูหะหมัดนอร์ มะทา

ด้านการศึกษา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จบการศึกษาชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนบ้านสะเตง จังหวัดยะลา ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร 

จากนั้นได้เข้าศึกษาปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนกระทรวงมหาดไทย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบันทิต(บริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน

ส่วนการทำงาน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เริ่มรับราชการครูและได้รับตำแหน่งเป็นครูใหญ่ โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี 

ต่อมาใน ปี 2512 ได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา) ปี 2518 เป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ) และเป็นอาจารย์พิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พร้อมกันด้วย จากนั้นในปี 2521 ได้รับตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา

เส้นทางการเมือง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกในสังกัด พรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและแกนนำ กลุ่มวาดะห์ ไปเข้าสังกัด พรรคประชาธิปัตย์ และต่อมาย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และ พรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนาที่ ไม่ได้รับการเลือกตั้ง และขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในเวลาต่อมา 

ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม 2545 และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้รับตำแหน่งเป็น รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

ต่อมา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จากคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง ในปี 2549 แต่ยังคงมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจาก พรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง 

                        วันมูหะหมัดนอร์ มะทา

ก่อนจะย้ายไปสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย เมื่อเดือนตุลาคม 2550 และย้ายไปสังกัด พรรคพลังประชาชน กระทั่งในปี 2555 หลังจากพ้นถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง นายวันมูหะหมัดนอร์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

พ.ศ. 2522 เป็น ส.ส.จังหวัดยะลา สมัยแรก ในสังกัดพรรคกิจสังคม

พ.ศ. 2523 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

พ.ศ. 2524 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

พ.ศ. 2529 ร่วมกับ นายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง “กลุ่มเอกภาพ”(กลุ่มวาดะห์)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

พ.ศ. 2531 นำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ "กลุ่ม 10 มกรา" ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน

พ.ศ. 2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับ พรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ

พ.ศ. 2533 ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)กรรมการในคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ [4]

พ.ศ. 2535 นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 4 (จากการเลือกตั้ง 2535/1)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 5 (จากการเลือกตั้ง 2535/2)
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร

พ.ศ. 2537 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

พ.ศ. 2538 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 6

พ.ศ. 2538-2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

พ.ศ. 2539 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 7

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภา (24 พ.ย. 2539 - 27 มิ.ย. 2543)

พ.ศ. 2544 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 8 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยที่ 2

3 ตุลาคม 2545 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

28 ธันวาคม 2545 รับพระราชทานยศ นายกองใหญ่

10 มีนาคม 2547 รองนายกรัฐมนตรี

6 ตุลาคม 2547 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พ.ศ. 2548 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 9

                       วันมูหะหมัดนอร์ มะทา

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ปี 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติ และได้เป็นบุคคลที่พรรคประชาชาติจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 
เป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 10 (แบบบัญชีรายชื่อ) ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563

ทั้งนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ยังคงเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติเช่นเดิม

*ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากวิกิพีเดีย