“วัชระ”มอบข้อมูลกก.จริยธรรมสอบข้อพิรุธละเอียดยิบปมส.ว.พัน"ส.ต.ท.หญิง"

05 ก.ย. 2565 | 09:39 น.

“วัชระ”ยื่นกก.จริยธรรมสอบข้อพิรุธละเอียดยิบกรณีส.ว.พัวพัน "ส.ต.ท.หญิง” ด้านกรรมการจริยธรรมยันการสอบไม่เอนเอียง เชิญ “ธานี อ่อนเอียด” เข้าชี้แจง 12 ก.ย.นี้ พร้อมทำเรื่องตรวจสอบเงินบริจาควัดบางลี่เจริญธรรม

วันนี้ (5 ก.ย.65 ) ตามที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าพบ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งชื่อ นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หรือ ส.ว.คนใดเกี่ยวพันกับกรณี ส.ต.ท.หญิง และฝ่าฝืนข้อบังคับประมวลจริยธรรมหรือไม่ และต่อมาคณะกรรมการฯ ได้เชิญ นายวัชระ เข้าร่วมประชุมในวันนี้ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนเมื่อเวลา 11.20 น. ที่ห้องประชุม 408 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา 


นายวัชระ กล่าวว่า ได้มอบเอกสารให้คณะกรรมการฯ สอบสวนประเด็นต่าง ๆ เพื่อพิจารณาว่า นายธานี อ่อนละเอียด ส.ว. หรือ สมาชิกวุฒิสภาคนใด กระทำการหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวพันกับกรณี ส.ต.ท.หญิง หรือไม่ ดังต่อไปนี้

1.ส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นผู้ช่วยหรือตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ที่ปรึกษา นักวิชาการ ฯลฯ ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนใดตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และสมาชิกวุฒิสภาคนใดตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทนเท่าใด 

 

2.การเสนอหรือสนับสนุนการแต่งตั้ง ส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการ (เพิ่มเติม) ตามคำสั่งคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ 3/2561 ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 โดยขอให้เรียกบันทึกข้อความที่มีการเสนอแต่งตั้งว่ามีบุคคลใดเป็นผู้เสนอ และผ่านการพิจารณาหรือสอบทานจากใคร อย่างไร และเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวมาสอบถามเหตุผล ความจำเป็น ใครเป็นผู้ชักนำให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา นักวิชาการ ในวงงานรัฐสภา

3.เมื่อส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ได้รับการแต่งตั้ง มีสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ควรได้รับอย่างไรตามกฎหมายหรือระเบียบ เช่น เงินเดือน เบี้ยประชุม เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น และเคยมาร่วมประชุมบ้างหรือไม่ เมื่อใด กี่ครั้ง 


4.การเสนอชื่อ ส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะกรรมาธิการ (เพิ่มเติม) มีความจำเป็นเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้จบปริญญาตรีกฎหมาย แต่จบ ปวส.ด้านการบัญชี เนื่องจากที่ผ่านมาการเสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาจะประกอบด้วยบุคคลสำคัญ เช่น อดีตอัยการสูงสุด พล.ต.อ. พล.อ. เป็นต้น 


5.สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ มีหลักเกณฑ์ในการเสนอชื่อที่ปรึกษาหรือนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการหรือไม่ และการเสนอชื่อส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร มีที่มาที่ไปในการเสนอชื่ออย่างไร บุคคลใดเป็นผู้เสนอ


6.ขอให้เรียกหลักฐานการประชุม การเซ็นชื่อรับเงิน การจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนต่าง ๆ ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาให้กับส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นจำนวนเงินเท่าใด จ่ายตั้งแต่เมื่อใด และเข้าบัญชีผู้รับเงินหรือไม่ อย่างไร ใครได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ ส.ต.ท. หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ได้เซ็นชื่อรับเงินด้วยตนเองหรือไม่ หรือมอบอำนาจให้ใครรับเงินแทน

 

7.ขอให้เชิญบุคคลที่ปรากฏในภาพถ่ายที่ถ่ายรูปร่วมกับนายธานี และ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงว่าถ่ายรูปที่ไหน เมื่อใด งานอะไร งานนั้นเกี่ยวข้องกับ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ อย่างไร


8.ขอให้เชิญบุคคลที่ทำบันทึกข้อความเสนอแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ บัวแย้ม เข้ารับราชการตำรวจตั้งแต่ต้น มาสอบถามถึงสาเหตุการเสนอแต่งตั้งว่ามีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างไร หากขาดแคลนตำรวจด้านบัญชีที่ผ่านมามีการประกาศรับสมัครบุคคลทั่วไปเพื่อสอบแข่งขันก่อนหรือไม่ หรือไม่มีใครสนใจมาสมัครสอบแข่งขันจึงต้องเสนอนางสาวกรศศิร์ บัวแย้ม บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจโดยการขอยกเว้นหลักเกณฑ์ทั่วไป และมีการทำลักษณะแบบนี้กับบุคคลใดบ้าง ให้ผู้ทำบันทึกเสนอชี้แจง และภายหลังการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจเนื่องจากขาดแคลนตำรวจด้านบัญชี เหตุใดจึงให้ไปช่วยราชการหน่วยงานอื่นซึ่งไม่ตรงกับที่การขอยกเว้นหลักเกณฑ์ดังกล่าว

                                “วัชระ”มอบข้อมูลกก.จริยธรรมสอบข้อพิรุธละเอียดยิบปมส.ว.พัน"ส.ต.ท.หญิง"
9.บุคคลใดเสนอและอนุมัติให้ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ไปช่วยราชการที่ กอ.รมน. ภาคใต้ และได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง เช่น เบี้ยเลี้ยง เงินเดือน วันราชการทวีคูณ เป็นต้น รวมเป็นเงินที่งบประมาณที่เบิกจ่ายให้กับบุคคลดังกล่าวเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นเท่าใด มีหลักเกณฑ์และหลักฐานการจ่ายเงินอย่างไร ใครเป็นผู้กำกับดูแลและอนุมัติการจ่ายเงินในเมื่อ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ไม่ได้ไปทำงานในพื้นที่ภาคใต้แต่อยู่ที่จังหวัดราชบุรี ขอให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่การเงิน กอ.รมน. ที่มีอำนาจหน้าที่วางฎีกาเบิกจ่ายเงินงบประมาณดังกล่าวมีกระบวนการสอบทานเอกสารสำคัญอย่างไร


10.ขอใบอนุโมทนาบัตรที่วัดออกให้จากกรณีนายธานี และ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บริจาคเงินจำนวน 120,000 บาท ให้ถามนายธานีว่าเป็นเงินใคร และขอเอกสารแบบยื่นชำระภาษีในปีภาษีที่บริจาคเงินของบุคคลทั้งสองเพื่อทราบว่าใครเป็นผู้นำใบอนุโมทนาบัตรไปลดหย่อนภาษี


11.กรณีวุฒิการศึกษาขอให้สอบถามนักศึกษาในปีการศึกษาเดียวกันว่าส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้ไปเรียนหรือไม่ อย่างไร และกรณีเงิน 50,000 บาทที่มอบให้มหาวิทยาลัยเอกชนโดยอ้างว่าซื้อวุฒิการศึกษาให้สอบมหาวิทยาลัยถึงใบเสร็จรับเงินจำนวน 50,000 บาท


12.กรณีการบรรจุเข้าทำงานทุกตำแหน่ง ตรวจสอบหลักเกณฑ์การสมัคร การรับรอง ผู้รับรอง ใบคะแนน ผลการคัดเลือก


13.นายธานี รู้จักกับ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร ใครแนะนำหรือไม่ หากรู้จักกันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เคยช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เช่น หางานหรืออาชีพให้ทำหรือไม่ แนะนำให้รู้จักกับใครบ้างเพื่ออะไร ฝากเข้ารับราชการจริงหรือไม่ กับสมาชิกวุฒิสภาคนอื่น ๆ มีความสนิทสนมหรือไม่ และมีผู้ใดฝากส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กับพลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ อย่างไร


14.ให้เช็คหมายเลขโทรศัพท์ระหว่างส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ กับสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เกี่ยวข้องตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน


15.เพื่อฟังความทุกฝ่ายอย่างรอบด้านและกระจ่างแจ้งอย่างเป็นธรรม ขอเสนอให้เชิญส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ และ ส.ต.หญิง (ทหาร) มาให้การต่อคณะกรรมการฯ ด้วย 


ทั้งนี้ หากผลสอบสวนประเด็นดังกล่าวแล้วพบว่า นายธานี หรือ ส.ว.คนใดกระทำการหรือมีพฤติการณ์เกี่ยวพันกับกรณี ส.ต.ท.หญิง ก็จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 , 8, 9 ข้อ 12 , 13 ข้อ 18 ข้อ 20 ข้อ 22 ข้อ 30 ข้อ 32 ข้อ 35 ข้อ 36  หรือไม่ อนึ่ง ขอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครอง ส.ต.หญิง คู่กรณีของ ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ด้วย 

 

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะโฆษกคณะกรรมการจริยธรรม วุฒิสภา แถลงภายหลังการประชุมกรรมการจริยธรรม เพื่อตรวจสอบกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกรณีการแต่งตั้ง ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ให้ดำรงนำแหน่งต่างๆ ในกรรมาธิการและมีความเกี่ยวโยงกับส.ว. ซึ่งได้เชิญ นายวัชระ เข้ามาให้ข้อมูลเป็นนัดแรก ว่า จากข้อมูลของนายวัชระ กรรมการได้รับข้อมูลเพิ่มเติมอีก 16 ประเด็น ซึ่งขอเป็นความลับ

 

ทั้งนี้กรรมการจะนัดประชุมครั้งต่อไปวันที่ 8 กันยายน โดยพิจารณาเฉพาะเอกสาาร และนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 12 กันยายน ซึ่งเชิญนายธานี อ่อนละเอียด ส.ว.มาให้ข้อมูล   ส่วนพล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ส.ว.นั้นทางกรรมการฯ ยังไม่ได้เชิญ แต่หากข้อมูลไม่เพียงพอจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

 

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า กรรมการขอข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กองบัญชาการกองทัพไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น ซึ่งจะได้เอกสารตอบกลับภายใน 7 วัน และวันนี้ที่ประชุมมีมติขอข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานดังกล่าวอีกครั้งเพื่อสอบถามเรื่องการขอตัวช่วยราชการ
เมื่อถามว่า นายวัชระ ระบุว่าชาวจังหวัดราชบุรี ให้ข้อมูลเรื่องการยกน้ำชาของส.ว.ท่านหนึ่งกับสุภาพสตรี นายสมชาย กล่าวว่า กรรมการฯ เพิ่งทราบเรื่องจากนายวัชระ แต่ไม่ทราบว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อใดและที่ไหน และเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัว เรายังไม่มีข้อมูลต้องรอตรวจสอบเพิ่มเติม 


ทั้งนี้นายวัชระร้องหลายข้อที่ผิดจริยธรรม ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ ส.ว.ก็ถือว่าผิดจริยธรรม ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นเรื่องส่วนตัว หากใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเอื้อต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวถือว่าผิด และต้องดำเนินการ ส่วนเรื่องที่นายวัชระ ระบุเกี่ยวกับเงินบริจาคให้วัดบางลี่เจริญธรรมนั้น ที่ประชุมมีมติให้ทำหนังสือสอบถามไปยังเจ้าอาวาสวัด ว่าเงินบริจาคดังกล่าวเกี่ยวกับงานอะไร และเป็นเงินของใคร


 นายสมชาย ยังวตอบคำถามถึงการแต่งตั้งให้ ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ ทำงานในกรรมาธิการ ว่า ทางสำนักเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งว่า ส.ต.ท.หญิงคนดังกล่าว เป็นเลขานุการ 1 คณะ เป็นนักวิชาการ 1 คณะ และเป็นที่ปรึกษา 1คณะ แต่ทุกอย่างดำเนินการตามมติของกรรมาธิการ ส่วนคุณสมบัติและการเข้าร่วมประชุมก็จะต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป โดยขณะนี้ให้ฝ่ายเลขาธิการวุฒิสภา ตรวจสอบต่อว่าได้มาปฏิบัติงานหรือไม่และดูสถิติการเซ็นชื่อว่ามีกี่ครั้ง

 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการพูดถึง ส.ต.ท.หญิงกรศิร์ ได้รับเครื่องราชฯด้วย นายสมชาย กล่าวว่า  ประธานวุฒิสภา ได้ตอบคำถามนี้ไปแล้ว ว่าการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและเลขานุการกรรมาธิการ จะมีเงินเดือน หากทำงานได้ 1-2 ปีก็มีสทธิ์ ได้รับเครื่องราชฯ แต่ทั้งนี้ต้องไปตรวจสอบรายละเอียด ซึ่งคนผู้นั้นต้องมาช่วยราชการตามกรอบเวลา เพราะหากเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ จะไม่มีเงินเดือนและจะไม่ได้รับเครื่องราชฯ


“เรื่องการตรวจสอบดังกล่าว มีบางส่วนพยายามดึงให้เป็นเรื่องการเมืองเพื่อลดเครดิตส.ว ซึ่งคิดว่ากรรมการฯ จะไม่เล่นตามนั้น และจะทำตามหน้าที่เต็มที่แข่งกับเวลา ส่วนมติจะถูกผิดอย่างไร ทางกรรมการฯจะต้องรายงานเข้าที่ประชุมใหญ่วุฒิสภา เพื่อลงมติต่อไป โดยเราจะไม่เอนเอียงไปตามกระแส "นายสมชาย ระบุ