อภิปรายไม่ไว้วางใจ 65 "ก้าวไกล" ซัด อนุทิน จงใจสร้างสุญญากาศกฎหมายคุมกัญชา 

19 ก.ค. 2565 | 08:55 น.

อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 "หมอวาโย" ส.ส.พรรคก้าวไกล ซัด "อนุทิน" จงใจสร้างสุญญากาศกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา ส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน กระทบเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ

19 กรกฎาคม 2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลช่วงของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข โดย นายแพทย์วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายตั้งข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ของนายอนุทินว่า จงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชาจนทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชน ประเทศสุ่มเสี่ยงมีปัญหาทางการทูต รวมถึงเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยว

 

นพ.วาโย อภิปรายว่า ที่ผ่านมากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ต่อมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่เริ่มปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ โดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 

 

กระทั่งเมื่อนายอนุทินเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น รมว.สาธารณสุข ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ว่า วัตถุหรือสารในพืชกัญชา ที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

กระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ได้มีการประกาศให้ใช้ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ซึ่งประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ฉบับใหม่ซึ่งให้อำนาจ รมว.สาธารณสุข สามารถระบุชื่อยาเสพติดให้โทษได้ นายอนุทิน รมว.สาธารณสุข จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 โดยไม่ได้รวมส่วนของพืชกัญชา เช่น ดอก กิ่ง ก้าน ราก ใบ เข้าเป็นยาเสพติดให้โทษ

 

แต่นับเฉพาะสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่มี THC เกิน 0.2% และไม่ได้รับอนุญาตให้สกัด หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชากัญชงที่ปลูกในต่างประเทศ ที่ยังถือเป็นยาเสพติดให้โทษ โดยประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เมื่อพืชกัญชาและกัญชงได้ถูกปลดล็อกแต่เมื่อไม่มีกฎกระทรวง หรือกฎหมายย่อยใด ๆ เข้ามาควบคุมการใช้ประโยชน์ทางสันทนาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมอายุของผู้ครอบครอง การซื้อ ขาย หรือการควบคุมการใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชานอกเหนือจากจุดประสงค์ทางการแพทย์ ทำให้เกิดเป็นสุญญากาศทางกฎหมายซึ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนจำนวนมาก

 

ในขณะที่นายอนุทินตบตาประชาชน แสร้งว่า มีการควบคุมแล้ว อาทิ การออกประกาศเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งไม่มีสภาพบังคับใช้จริง และการประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งห้ามสูบในที่สาธารณะ ห้ามจำหน่ายให้กับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์

 

"นายอนุทินจงใจสร้างสุญญากาศทางกฎหมายให้เกิดขึ้นเพราะระหว่างที่ปลดล็อกกัญชานั้น พบว่า นายอนุทินเพิ่งยื่นร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าสู่สภาในวันที่ 26 มกราคม 2565 อย่างไรก็ดี ประธานรัฐสภาเห็นว่า เป็นร่างซึ่งเกี่ยวข้องกับการเงินในประเด็นที่ อย.ต้องเป็นผู้ออกใบอนุญาตจึงต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ รัฐมนตรีประกาศปลดกัญชาออกจากยาเสพติด

 

ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีอนุมัติและส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวกลับมาก็ปิดสมัยประชุมพอดี ซึ่งเปิดยาวนานถึง 3 เดือน จึงได้บรรจุเข้าวาระปลายเดือนพฤษภาคม และรัฐสภาได้พิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 หรืออีก 1 วันก่อนครบกำหนด 120 วันที่จะถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดฯ

 

คำถามคือ ทำไมนายอนุทินไม่แก้ไขประกาศสาธารณสุขวันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยยืดระยะเวลาออกไปก่อนเพื่อรอการพิจารณากฎหมายแม่ที่อยู่ในสภาโดยใช้กฎหมายฉบับเดิมที่มีอยู่ หรือหลังจากวันที่ 8 กุมภาพันธ์เห็นแล้วว่า กฎหมายผ่านไม่ทัน ก็แค่ยกเลิกประกาศให้ใช้ประกาศเดิม รอจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมกัญชาแล้ว แต่ก็ไม่ทำ

 

นอกจากนี้ที่ผ่านมานายอนุทิน เน้นย้ำมาตลอดว่า การปลดล็อกกัญชาเพื่อส่งเสริมการผลิตเพื่อการแพทย์แต่กลับไปโชว์รับประทานเมนูต่าง ๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชา ขัดแย้งกับนโยบายที่ได้พูดไว้ 

 

อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกล ขอยืนยันว่า พรรคสนับสนุนการปลดล็อกกัญชาทั้งทางการแพทย์และเพื่อสันทนาการ แต่จำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม เพราะแม้กัญชาจะมีประโยชน์ในการรักษาบางโรค แต่ก็มีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับโทษของกัญชาด้วยโดยเฉพาะผลกระทบในเด็กและเยาวชน

 

รวมถึงการปล่อยให้ไม่มีการควบคุมกัญชาจนร้านค้านำไปผสมอาหารโดยไม่แจ้งผู้บริโภคซึ่งชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือท่องเที่ยวในไทยก็กลัวว่า หากกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าไปโดยไม่รู้ตัวก็อาจเกิดปัญหาหากต้องเดินทางกลับประเทศ หรือ กรณีที่หน่วยงานเรียกตัวตรวจแล้วพบสารจากกัญชาดังกล่าว ตลอดจนอาจส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยตามมาได้