อภิปรายไม่ไว้วางใจ 65 "สุทิน" สับเละกัญชาเสรี ละเมิดข้อตกลงยูเอ็น-ขัดรธน.

19 ก.ค. 2565 | 07:25 น.

อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2565 "สุทิน" สับเละนโยบายกัญชาเสรี รัฐบาลละเมิดข้อตกลงยูเอ็น-สภาไทย-ขัดรัฐธรรมนูญ-กระทบเศรษฐกิจ-สังคม-มีผลประโยชน์ทับซ้อน 

19 กรกฎาคม 2565 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลซึ่งมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ช่วงการอภิปรายนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เรื่องนโยบายกัญชาเสรีว่า

 

ร่วมกันกำหนดและจัดให้มีนโยบายกัญชาเสรี ด้วยความไม่สุจริตใจเป็นที่ตั้ง นำมาซึ่งการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ดำเนินนโยบายโดยละเมิดรัฐธรรมนูญ ละเมิดมติรัฐสภาไทย และยังละเลย ละเว้นไม่ควบคุมกัญชาในสิ่งที่ควรจะเป็น นำมาซึ่งความเสียหายของประชาชนและประเทศ

 

ละเมิดกติกาโลก-กฎหมายระหว่างประเทศ

นโยบายรัฐบาลถือว่าผิดอนุสัญญาเดี่ยวยาเสพติดให้โทษ 1961 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพิธีสาร 1972 ของ UNODC ที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ทั่วโลกไปลงนามกัน 190 กว่าประเทศซึ่งประเทศไทยก็ไปลงนามกับเขาและอนุสัญญาตามมา 2 ฉบับก็ทำทั้งหมด ทั้งยังประกาศสัตยาบันซึ่งมีผลผูกพันที่รัฐบาลต้องไปปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา โดยกัญชา คือ ยาเสพติดชนิดที่ 4 เป็นประเภทที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์

 

ต่อมาพบว่า กัญชาเริ่มมีประโยชน์ จึงให้ใช้ในทางการแพทย์ ปี 2020 ย้ายจากประเภทที่ 4 มาเป็นประเภทที่ 1 คือยาเสพติดร้ายแรง แต่อนุโลมให้ใช้ทางการแพทย์และการวิจัยเท่านั้น แต่จะเอามาขายในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ ดังนั้น การที่เราถอดกัญชาออกจากยาเสพติด  ถือว่าละเมิดกติกาโลก

 

ละเมิดรัฐสภา เพราะมติรัฐสภาไม่ได้ให้ไปปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด แม้ให้ทำแต่ก็ทำได้แต่ทางการแพทย์และการวิจัย แต่กระทรวงสาธารณสุขเลยเถิดให้เกิดอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เสพได้ แสดงว่าละเมิดมติสภาไทย ถามว่าในสภาไม่รู้ ไม่ท้วงติง แต่ท้วงติงมาตลอด แต่น้ำท่วมปาก

ยืนยันว่า มติสภาไม่ได้ให้ไปปลดล็อก ยังไม่ใช่การเปิดเสรี แต่กระทรวงสาธารณสุขไปออกประกาศปลดกัญชาออกจากยาเสพติกดประเภท 5 ทำให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ที่ผ่านมาแม้จะมีเสียงทักท้วงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐมนตรีบางคนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่รัฐบาลยังคงดึงดันที่จะเปิดเสรีกัญชา โดยมีเหตุผลเพื่อรักษาความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจากพรรคภูมิใจไทยเอาไว้หรือไม่

 

บางคนอ้างว่าในต่างประเทศก็มีการละเมิดเช่นกัน คือ อุรุกวัย แคนาดา และสหรัฐในบางรัฐ ซึ่งกำลังถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะไม่เป็นที่ยอมรับจากประเทศมุสลิม ซึ่งขณะนี้ผู้นำอุรุกวัย และแคนาดา ออกมายอมรับแล้วว่า การเปิดเสรีกัญชาไม่คุ้มค่า

ขัดรัฐธรรมนูญ 

การเปิดเสรีกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.65 ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 66 ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้มีการนำกัญชาออกมาวางขายข้างถนน การนำไปใช้เป็นส่วนผสมในขนมและอาหาร หลังจากนั้นองค์กรทางการแพทย์ องค์กรทางศาสนา และหน่วยงานภาครัฐ ได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกการออกประกาศเปิดเสรีกัญชา

 

การที่รัฐบาลอ้างเรื่องกัญชาเพื่อการแพทย์และพืชเศรษฐกิจตัวใหม่อาจจะคำนวณถึงข้อดีและข้อเสียไม่เพียงพอ เพราะเสียงคัดค้านเห็นว่า มีผลเสียมากกว่าผลดีซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลส่งสัญญาณผิดให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นของดีวิเศษ และยังไม่มีมาตรการควบคุมให้รัดกุมก่อนที่จะเปิดเสรี

 

กระทบเศรษฐกิจ เกิดปัญหาสังคม 

บอกว่าปลูกแล้วจะมีรายได้ดีนั้นต้องถามว่า ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน เพราะทั่วโลกถือว่าเป็นยาเสพติด หากส่งออกก็จะถูกจับทันที บางประเทศเริ่มห้ามคนของตัวเองเดินทางมาท่องเที่ยวแล้ว หากจะนำมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวก็จะได้นักท่องเที่ยวที่เสพยาเพราะจุดขายเรื่องท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

 

สิ่งที่จะได้ตามมาคือปัญหาสังคม เพราะห้ามขายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และห้ามสูบในที่สาธารณะ นั่นหมายความว่าสามารถปลูกเสพเองที่บ้านได้ ขณะที่สถานการณ์ยาเสพติดขณะนี้มียาบ้าแพร่ระบาดมากก็มีปัญหามากอยู่แล้ว ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหายาเสพติดคือต้องให้ไกลยาเสพติด แต่รัฐบาลนี้ดำเนินการตรงกันข้าม เพราะเปิดทางให้เอายาเสพติดมาไว้หลังบ้าน

 

ส่อมีผลประโยชน์ทับซ้อน 

ล่าสุด มีกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยมีการจัดตั้ง บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือซิโน-ไทยฯ ที่มีเครือญาติของตระกูลชาญวีรกูลเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งแตกไลน์จากธุรกิจเหล็กมาเป็นธุรกิจกัญชง

 

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ไม่ได้คัดค้านนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ของรัฐบาล แต่ต้องมีแนวทางที่ถูกต้อง ควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด เพื่อไม่ให้นักลงทุนหลงทางและประชาชนเข้าใจผิด แต่วันนี้ถือว่าสายเกินไปแล้วที่ปลดล็อกกัญชาจนไม่มีการควบคุม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

 

ทั้งนี้ สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข มีพฤติการณ์และเรื่องที่ถูกอภิปราย ดังนี้

  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวผิดพลาดบกพร่อง สนับสนุนหรือ ทำให้เกิดกระบวนการทำลายการปกครองระบบรัฐสภา
  • ไม่ซื่อสัตย์ ไร้คุณธรรมจริยธรรม
  • บริหารราชการของกระทรวงสาธารณสุขผิดพลาด
  • ใช้งบประมาณแผ่นดินเกิดความจำเป็นไม่เกิดประโยชน์ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ