"สิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากยูเครน” ในมุมมอง ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

27 ก.พ. 2565 | 04:39 น.

“ดร.ปิติ ศรีแสงนาม” โพสต์ “สิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากยูเครน” ชี้เป็นการประลองกำลังระหว่างรัสเซีย-พันธมิตร NATO ยูเครนเป็นประเทศที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง รัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สหรัฐได้ผลประโยชน์เต็มที่

วันนี้(27 ก.พ.65) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อเรื่อง “สิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากยูเครน” ระบุว่า


1. ความขัดแย้งครั้งนี้ แท้จริง คือ การประลองกำลังระหว่างรัสเซีย และพันธมิตร NATO ซึ่งนำโดยสหรัฐ ยูเครนเป็นเพียงสนามประลองกำลังของพวกเขา

2. ความขัดแย้งเกิดมานานแล้ว แต่ all out war พุ่งเริ่มต้น โดยความขัดแย้งที่ผ่านมาอยู่ในรูป Hybrid Warfare ซึ่งดำเนินการโดยทั้ง 2 ฝ่าย (NATO และ รัสเซีย)

 

3. ทุกฝ่ายสูญเสีย ยกเว้นเพียง 1 ฝ่ายเท่านั้น

 

3.1 ยูเครนกลายเป็นเพียงประเทศที่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดินแดน บูรณภาพแห่งดินแดน ชีวิตผู้คนที่สับสนอลหม่าน แตกฮือย้ายหนีออกจากถิ่นพำนัก พลัดที่นาคาที่อยู่ และต้องเผชิญกับระบบเศรษฐกิจที่ย่อยยับ 

3.2 พันธมิตร NATO ในยุโรปได้รับผลกระทบทางลบที่มีต้นทุนสูง ในรูปแบบของโอกาสทางธุรกิจ/เศรษฐกิจที่สูญเสีย เนื่องจากคงไม่สามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานราคาถูกจากรัสเซียได้อีกต่อไป 


3.3 รัสเซียถึงแม้จะได้ดินแดนในทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์ แต่การตัดสินใจเป็นฝ่ายใช้กำลังเข้าห้ำหั่นเสียก่อน ก็ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการสูญเสียภาพลักษณ์ในประชาคมโลก 


3.4 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ผ่านหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการสงครามและพลังงาน ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น (อย่าลืมว่าสหรัฐฯ กดดันให้ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซียมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน) รวมทั้งบารมีและอิทธิพลของตนเองในกลุ่มพันธมิตร NATO ที่กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

 

คำถามคือ เพราะอะไร ยูเครน จึงตกอยู่ในสถานะเช่นนี้ ที่เลือกข้างมหาอำนาจ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย จนประเทศสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง


ผมคิดว่าเพราะ 3 ปัจจัย ที่ทำให้มหาอำนาจเข้าแทรกแซง


1. มีปมขัดแย้งในพื้นที่อยู่แล้ว และปมนั้นถูกกดทับมาเป็นเวลายาวนาน


2. อยู่ในทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่มหาอำนาจต้องการขยานอิทธิพล


3. ประชาชนในประเทศพร้อมเลือกข้าง และพร้อมห้ำหั่นกันเอง


คำถามคือ ในไทย และ ในอาเซียน เรามีความสุ่มเสี่ยงเช่นนี้หรือไม่


เชิญชวนอ่านครับ

 


จากยูเครนสู่ปัตตานี กรณี Gerasimov Doctrine และแผนบันได 7 ขั้น

 

จากยูเครนสู่อาเซียน: กรณีศึกษา Hybrid Warfare (สงครามผสมผสาน) ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง