“วิกฤติยูเครน” สะเทือนรัสเซีย-ไทยอย่างไร 5 เรื่องใหญ่ ชนวน “ปูติน”สั่งลุย

26 ก.พ. 2565 | 01:05 น.

ปฏิบัติการทางทหารรัสเซียที่กำลังรุกคืบบุกยึดยูเครน ที่สะท้านสะเทือนไปทั่วโลกในเวลานี้ จะกระทบเศรษฐกิจแดนหมีขาว และผลต่อประเทศไทยในหลากหลายแง่มุมอย่างไรนั้น ฟังจากบทวิเคราะห์ของ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ดังนี้

 

ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในการบุกยึดยูเครน เป็นไปอย่างรวดเร็ว หลังประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ช่วงเช้าวันที่ 24 ก.พ. 2565  โดยมีการวางแผนและทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ได้รับไฟเขียวจากรัฐสภาของรัสเซียต่อปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งในมุมของรัสเซียแล้วถือเป็นปฏิบัติการที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศ ท่ามกลางเสียงทัดทานของประเทศที่เป็นพันธมิตรและไม่เป็นพันธมิตรของรัสเซียทั่วโลก

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่าปฏิบัติการทางทหารวันที่สอง(25 ก.พ. 65) กองกำลังภาคพื้นดินของรัสเซียพร้อมรถถัง ได้บุกเข้าใกล้กรุงเคียฟ นครหลวงของยูเครนแล้ว

 

“วิกฤติยูเครน” สะเทือนรัสเซีย-ไทยอย่างไร 5 เรื่องใหญ่ ชนวน “ปูติน”สั่งลุย

 

 

ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การบุกยึดยูเครนครั้งนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะขณะนี้รัสเซียได้ถูกแซงซั่นจากสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น และยุโรป ผ่านทางสถาบันการเงิน ทำให้รัสเซียทำธุรกิจทางการเงินกับต่างประเทศลำบาก ซึ่งหากรัสเซียยังรุกคืบเข้าไปในยูเครน จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมากขึ้น ดังตัวอย่างในปี ค.ศ.2015 ที่รัสเซียยึดไครเมีย ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียติดลบ 3.5% จากถูกแซงก์ชั่น

 

ที่สำคัญรายได้จากน้ำมันและก๊าชซึ่งเป็นรายได้หลังของรัสเซียจะหายไป เช่น ปัจจุบัน Nord Stream 2 ที่เป็นท่อก๊าซเส้นที่ 2 (ท่อก๊าซใต้ทะเลยาว 1,200 กม.ไม่ผ่านยูเครน)เพื่อไปขายให้เยอรมนี และหลายชาติในยุโรป เวลานี้เยอรมนีได้หยุดเจรจาการซื้อขายเพื่อร่วมตอบโต้รัสเซีย

 

แบบจำลองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤติยูเครน-รัสเซีย

 

 

ขณะที่จีน พันธมิตรเดียวของรัสเซียขณะนี้ กรณีการบุกยูเครนครั้งนี้ จีนไม่เอาด้วย โดยก่อนหน้านี้จีนระบุ ควรเจรจา และจีนมองว่ายูเครนและยุโรปคือตลาดสำคัญของจีน

 

สำหรับเหตุผลที่แท้จริงที่รัสเซียบุกยูเครนครั้งนี้มีอะไรบ้างนั้น ดร.อัทธ์ ชี้ว่า มาจากหลายเหตุปัจจัย ที่สำคัญคือ 1.รัสเซียมองว่า ยูเครนไม่ใช่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัสเซียมองว่ายูเครนคือส่วนหนึ่งของรัสเซียเพราะเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต และมองว่า ยูเครนไม่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง เพราะเอียงข้างไปอยู่กับยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งคนยูเครนมีเชื้อสายรัสเซีย โดยในเกือบทุกจังหวัดยูเครนมีคนสัญชาติรัสเซีย โดยสัดส่วนเกิน 50% อยู่ในจังหวัดทางตอนใต้และตะวันออก ความผูกพันจึงมีอยู่กับรัสเซีย

 

2.ยูเครนคือเส้นทางหลักในการขนส่งก๊าซและน้ำมัน โดยก๊าซสัดส่วน 40% และน้ำมันสัดส่วน 25% จากรัสเซียเพื่อไปยุโรปต้องส่งผ่านยูเครน และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการส่งก๊าซและน้ำมันให้กับยูเครนปีละกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

3.ไม่เห็นด้วยที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (NATO) เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงต่อรัสเซีย และกังวลว่านาโต้กำลังจะปิดล้อมรัสเซีย   

 

4.ด้านเศรษฐกิจ ยูเครนมีพื้นที่ประเทศใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรปรองจากรัสเซีย มีความพร้อมด้านทรัพยากรและอุตสาหกรรมสำคัญทั้งน้ำมัน เหล็ก และเครื่องจักร 

 

5.ความแตกแยก ยูเครนมี 24 จังหวัด โดย 9 จังหวัดทางตะวันออกเฉียงใต้ต้องการอยู่ภายใต้รัสเซีย ทั้งคาบสมุทรไครเมีย พื้นที่ Donbas รัสเซียให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคว้น Donetsk และ Luhansk ทางตะวันออกของยูเครน และล่าสุดรัสเซียได้ออกกฎหมายรับรองการเป็นรัฐเอกราชของสองแคว้นไม่ขึ้นกับยูเครนแล้ว

 

อัทธ์  พิศาลวานิช


ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า ผลจากที่สหรัฐฯ พันธมิตรจากยุโรป และหลายชาติคว่ำบาตร หรือประกาศแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายเรื่อง อาทิ 1. สินค้าไทยที่ส่งไปขายรัสเซีย จะทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อเคลียร์เงินในการส่งออก-นำเข้า ไม่สะดวก เพราะต้องผ่านประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐฯ ยุโรป  2.สายการบินไทยยกเลิกเที่ยวบินไปยุโรปตะวันออก กระทบนักท่องเที่ยวที่จะเดินไปทั้งไปและกลับ และ 3.การส่งออกไปยูเครนและรัสเซียของไทยจะได้รับผลกระทบในภาพรวม


“ไทยส่งออกไปยูเครนและรัสเซียเฉลี่ยปีละประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 25,600 ล้านบาท โดยส่งออกไปยูเครนปีละ 3,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นส่งออกไปรัสเซีย หากเกิดสงครามตัวเลขส่งออกได้รับผลกระทบแน่ นอกจากนี้จะกระทบนักท่องเที่ยวรัสเซีย 5 แสนคน และยุโรปตะวันออก 2 แสนคน ที่จะเข้ามาเที่ยวประเทศไทยในปี 2565” ดร.อัทธ์ กล่าว