“สร้างอนาคตไทย”พบภาคธุรกิจชี้รัฐต้องเร่งดึงนักท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ

10 ก.พ. 2565 | 09:05 น.

“อุตตม”นำทีมพรรคสร้างอนาคตไทย พบสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ หารือแนวทางแก้ปัญหาการท่องเที่ยว พร้อมผลักดันให้เป็นเครื่องยนต์ฟื้นเศรษฐกิจ เอกชนร้องภาครัฐต้องกล้าเปิดกว้างรับต่างชาติมากกว่านี้ เผย 2 ปี ประเทศสูญเสียเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวไปกว่า 3 ล้านล้านบาท 

วันนี้ (10 ก.พ.65) นายอุตตม สาวนายน แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย นำทีมพรรคสร้างอนาคตไทย เข้าพบปะ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อหาทางออกและฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเทียวเพื่อสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน

 

นายอุตตม กล่าวว่า ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยก่อนเกิดปัญหาโรคระบาดโควิด ประเทศไทยเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันรายได้ดังกล่าวหายไปเกือบหมด ทำให้ผู้ประกอบการ แรงงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้เดือดร้อนอย่างมาก ดังนั้น พรรคสร้างอนาคตไทยจึงขอเข้ารับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อที่ช่วยกันผลักดันให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอีกครั้ง


ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า ปี 2565 จะเป็นปีแห่งการรีสตาร์ทการท่องเที่ยวของประเทศไทย สิ่งที่จำเป็นที่สุดในขณะนี้คือ ต้องดำเนินการเรื่อง ทัวร์ลิสซึ่ม คลินิก เพื่อดูแลภาคการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาลืมตาอ้าปาก และฟื้นเศรษฐกิจได้ ทั่วโลกต่างประสบปัญหาเรื่องโควิด แต่วันนี้ประเทศไหนเตรียมความพร้อมได้ดีกว่า โอกาสย่อมมีมากกว่า ทางภาคการท่องเที่ยวมีความพร้อมอยู่แล้ว ขอภาครัฐส่งเสริมด้วยยุทธศาสตร์ 3 เติม 2 ลด คือ  1 เติมทุน 2 เติมลูกค้า 3.เติมความรู้  และ 2  ลด คือ ลดต้นทุน ลดความยุ่งยาก โดยใช้ทำแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย

                       “สร้างอนาคตไทย”พบภาคธุรกิจชี้รัฐต้องเร่งดึงนักท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการนำเสนอให้เห็นภาพความเสียหายของภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด โดยระบุว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 4 ล้านคน ขณะที่ปี 2563 และปี 2564 นักท่องเที่ยวหายไป 90 เปอร์เซ็นต์ เหลือไม่ถึงปีละ 4 แสนคน ส่งผลกระทบกับรายได้ของคนที่อยู่ในแวดวงการท่องเที่ยวประมาณ 7 ล้านคน โดยมีผู้ประกอบการประมาณ 3 ล้านคน และลูกจ้างประมาณ 4 ล้านคน 


พร้อมสะท้อนถึงปัญหาของผู้ประกอบการว่า ต่างประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และไม่มีแหล่งทุนที่จะขับเคลื่อนต่อในอนาคต รวมถึงยังมีปัญหา และอุปสรรคในการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่แรงงานลูกจ้างภาคท่องเที่ยวที่มีอยู่ราว 4 ล้านคน ตกงานแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ 

 

โดยเสนอแนะว่าหากต้องการให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจะต้องผ่อนปรนมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศสามารถเข้ามาได้สะดวกขึ้นภายใต้การควบคุมโรคระบาดที่เหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันมาตรการที่รัฐใช้ยังเป็นอุปสรรคมาก ขณะที่หลายประเทศมีมาตรการที่ยืดหยุ่นกว่าสามารถพลิกฟื้นการท่องเที่ยวได้แล้ว อาทิ  มัลดีฟส์ ตุรกี ดูไบ เป็นต้น

                       “สร้างอนาคตไทย”พบภาคธุรกิจชี้รัฐต้องเร่งดึงนักท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ

สุดท้าย ภาครัฐควรสนับสนุนเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในประเทศ โดยกระจายเม็ดเงินให้ถึงส่วนภูมิภาค ชุมชน เศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกทาง
ภายหลังการรับฟังความคิดเห็น นายอุตตม กล่าวว่า การท่องเที่ยวคือเครื่องยนต์ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และทำได้รวดเร็วที่สุด ดังนั้นพรรคสร้างอนาคตไทย จึงขอเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์ “Restart การท่องเที่ยว” ครอบคลุมการเยียวยา การฟื้นฟู และการพัฒนายั่งยืน โดยจะดำเนินการใช้ประโยชน์จากแนวนโยบายการตั้ง “กองทุนสร้างอนาคต SME ไทย” 

                                     “สร้างอนาคตไทย”พบภาคธุรกิจชี้รัฐต้องเร่งดึงนักท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จะจัดทุนสร้างอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขนาด 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจ ครอบคลุมผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกกลุ่มย่อย ไม่เฉพาะเจาะจงเพียงบางกลุ่ม เท่านั้น

 

“ผมเห็นฟ้องกับที่ประชุมว่า วันนี้วิกฤติของการท่องเที่ยว สามารถพลิกเป็นโอกาสได้ เราจึงต้องมียุทธศาสตร์ Restart การท่องเที่ยว มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสมารถให้กับผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทาน กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ทุกภูมิภาค” นายอุตตม ระบุ