“ณิชชา บุญลือ ”ไทยสร้างไทยอัดรัฐบาลทำ“ของแพงทั้งแผ่นดิน”ซ้ำเติมคนตัวเล็ก

07 ม.ค. 2565 | 08:43 น.

“ณิชชา บุญลือ ”ไทยสร้างไทยอัดรัฐบาลทำ“ของแพงทั้งแผ่นดิน” ซ้ำเติมประชาชนคนตัวเล็กที่เผชิญวิกฤติโควิด แนะออกมาตรการเชิงรุกแก้ปัญหาสินค้าแพง

นางสาวณิชชา บุญลือ คณะทำงานด้านนโยบาย พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสินค้าบริโภคในชีวิตประจำวัน เนื้อหมู ไก่ ไข่ไก่เพิ่มสูงว่า ยังไม่เห็นมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมราคาหมูไก่ ไข่ไก่ จนทำให้ “ของแพงทั้งแผ่นดิน” ทั้งที่มีสัญญาณว่าแนวโน้มราคาสินค้า จะเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์เพิ่งจะมาเริ่มออกมาตรการควบคุมราคา และห้ามส่งออกสุกร แต่ก็เป็นเพียงเพื่อแก้ปัญหาราคาหมูแพง หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนัก 

 

ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ขึ้นตลอดปี 2564 และที่สำคัญการขึ้นราคาสินค้าครั้งนี้ไม่ได้เป็นผลพวงจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่เกิดจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในการดูแลค่าครองชีพของประชาชน 

“ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทรวงพาณิชย์ภายใต้การดูแลของ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” จะใส่ใจ และมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องให้กับประชาชนมากกว่านี้ ขออย่าให้ซ้ำรอยสมัยที่เคยเป็นรัฐบาล ที่ราคาน้ำมันปาล์มราคาแพง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะปัจจุบันประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส จากสถานการณ์โควิดในการทำมาหากิน แต่กลับต้องมาแบกรับภาระสินค้าบริโภคในชีวิตประจำวันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเปรียบกับรายได้ประชาชน

 

ยิ่งตอนนี้โควิดระลอกที่ 5 สายพันธุ์โอไมครอน ที่กำลังระบาดอย่างหนัก แต่กลับยังไม่เห็นมาตรการป้องกันจากรัฐที่ชัดเจน จึงมีความน่าเป็นห่วง และน่ากังวลเป็นอย่างมาก จึงขอให้รัฐบาล เร่งออกมาตรการเชิงรุก เพื่อควบคุมราคาสินค้าบริโภคในชีวิตประจำวัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน”

                                       “ณิชชา บุญลือ ”ไทยสร้างไทยอัดรัฐบาลทำ“ของแพงทั้งแผ่นดิน”ซ้ำเติมคนตัวเล็ก

ทั้งนี้ นางสาวณิชชา ได้เสนอมาตรการควบคุมราคาสินค้าบริโภคว่า จะต้องรีบยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองที่เป็นอาหารสัตว์ไว้ชั่วคราว เพื่อเป็นการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตในการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ลดลง อีกทั้งกรมปศุสัตว์ต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกในการป้องกันไม่ให้เกิดการตายยกฟาร์มจนทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ป้องกันไม่ให้เกิด Supply Shock ที่ทำให้อุปทานลดลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งต้องมีมาตรการไม่ให้เกิดการกักตุนเนื้อสัตว์แช่แข็ง เพื่อหวังผลในการขายให้แก่ประชาชนในราคาแพงต่อไป