“ณิชชา บุญลือ”พรรคไทยสร้างไทยห่วงตลาดแรงงานไทยหลังคนตกงานเพิ่มสูง

24 พ.ย. 2564 | 14:06 น.

“ณิชชา บุญลือ”พรรคไทยสร้างไทย ห่วงตลาดแรงงานไทย หลังสภาพัฒน์เผยตัวเลขคนตกงานเพิ่มสูงในรอบ 11 ปี แนะรัฐเร่งแก้ไขปัญหาช่วยคนตัวเล็ก

นางสาวณิชชา บุญลือ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หลังจากที่สภาพัฒน์เปิดเผยตัวเลขภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี มีจำนวนคนตกงาน 8.7 แสนคน เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 2.25% โดยกลุ่มที่จบปริญญาตรี ตกงานมากที่สุด รองลงมาเป็น ปวส. ส่วนใหญ่จบในสาขาบริหารธุรกิจ การตลาด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะตกงานยาวนาน เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และชะลอการรับแรงงานใหม่

 

ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยังไม่มีตัวเลขใดๆ ที่จะให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในเร็ววันหรือไม่ หากมองภาพของนโยบายฟื้นฟู หรือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อาจจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย รวมถึงการปรับโครงสร้างอย่างรวดเร็วของภาคธุรกิจที่ส่งผลต่อตลาดแรงงานโลก ทำให้ไม่สามารถชะลอการแก้ปัญหานี้ออกไปได้

สถานการณ์โควิด-19 สร้างผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงาน ทำให้มีแรงงานตกงาน เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี และยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวสูงถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นยอดตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

                                ณิชชา บุญลือ สมาชิกพรรคไทยสร้างไทย

โดยเฉพาะตลาดแรงงานไทยที่มีความอ่อนแอ ตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด จากทั้งจำนวนผู้มีงานทำ และจำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยที่มีแนวโน้มลดลงมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน และการออกจากแรงงานตามแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า รายได้จากการทำงานของคนไทยในภาพรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งในปัจจัยหลายๆ อย่างได้บ่งบอกว่า ลูกจ้างในระบบที่ตกงานมีการย้ายไปสู่การเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น เช่น อาชีพอิสระ งานรับจ้าง หรือธุรกิจส่วนตัว ซึ่งอาจมีรายได้น้อยกว่า แต่ได้งานทำอย่างอิสระ 

 

นางสาวณิชชา กล่าวด้วยว่า ในสภาวะแบบนี้รัฐบาลต้องรีบเข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะเป็นสภาวะที่ไม่ปกติในตลาดแรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบระยะยาวในระดับโครงสร้างประเทศไทย 

 

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ไม่ใช่การทำประชานิยมเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องมีการปรับเพิ่มฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ รวมถึงการแก้กฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการทำมาหากินของคนตัวเล็ก เพื่อให้ประชาชนคนตัวเล็กสามารถอยู่รอดในสังคมได้