เปิดร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับ กกต. ไม่ชงแก้ “ไพรมารีโหวต”

30 พ.ย. 2564 | 10:39 น.

กกต.เปิดรับฟังความคิดเห็น “ร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง” แล้ว แค่ปรับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน ให้สอดคล้องรธน.แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ชงแก้ “ไพรมารีโหวต” หวั่นถูกดึงเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง "วิษณุ"ให้ว่ากันในสภา

วันนี้ (30 พ.ย.64)  สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า กกต.ได้จัดทำร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1 ) พุทธศักราช  2564 เพื่อเสนอข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี  ตามมาตรา  131 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  

 

โดยได้นำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง www.ect.go.th แล้ว และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77  ของรัฐธรรมนูญ จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยขอให้ส่งความคิดเห็นที่มีต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว   4 ช่องทาง  คือ ยื่นด้วยตัวเอง ณ สำนักงาน กกต.   ยื่นทางไปรษณีย์ ทาง Email : [email protected] หรือทางโทรสาร หมายเลข 021438582 ภายในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ 

สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กกต.ดำเนินการแก้ไขมีทั้งสิ้น 4 มาตรา สาระสำคัญเป็นเพียงการแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 51 (2) และ(3) ซึ่งเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจากเดิม 150 คน ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดจํานวนส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือไม่เกิน 100 คนเท่านั้น  

 

ส่วนกระบวนการทำ “ไพรมารีโหวต” ที่พรรคการเมืองต้องการให้มีการแก้ไข กกต.ไม่ได้เสนอแก้ไข
มีรายงานว่า เนื่องจากมองว่า หากกกต.เสนอแนวทางใดแนวทางหนึ่งก็อาจถูกกล่าวหาได้ว่าเข้าข้างพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง จึงควรเป็นเรื่องของพรรคการเมืองดำเนินการ

                           เปิดร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับ กกต. ไม่ชงแก้ “ไพรมารีโหวต”

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.บ.ประกอบว่าด้วยพรรคการเมือง ของ กกต. โดยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตั้งแต่วันนี้ (30 พ.ย.) เป็นต้นไป ซึ่งเนื้อหาตามร่างพรรคการเมืองยังต้องทำไพรมารีโหวต

 

นายวิษณุ กล่าวว่า รายละเอียดต่าง ๆ อาจจะต้องมีการตั้งวงพูดคุยกันก่อนนอกรอบโดยรัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพพูดคุยกับวิปรัฐบาล ในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้  โดยต้องรอให้กกต.รับฟังความคิดเห็นให้เสร็จสิ้นก่อน แต่ถ้าไม่สำเร็จอาจจะต้องนำไปพูดคุยในสภาฯ 

 

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่สามารถยกเว้นการทำ “ไพรมารีโหวต” ได้เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หากจะงดต้องไปแก้กฎหมายพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

 

ส่วนที่ยังไม่ประกาศเขตเลือกตั้งอีก 50 เขตภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จาก 350 เขต เป็น 400 เขต พรรคการเมืองจะอ้างได้หรือไม่ว่าไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้ทัน และจะเป็นข้อยกเว้นไม่ต้องทำนั้น  นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ตอบไม่ถูก ยกเว้นจะแก้ไขในกฎหมายพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงจะสามารถยกเว้นได้ 

 

แต่ขณะนี้ร่างของกกต. ยังให้ทำไพรมารีโหวตอยู่ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ ส.ส. เป็นผู้เสมอ จะยกเว้นการทำไพรมารีโหวตหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ทราบ แต่หากเสนอเข้าก็ต้องนำมาประกบกันกับร่างของ กกต.