เมื่อรัฐจัด“แรงงานต่างชาติ”กับ“ผู้หนีภัยการสู้รบ”ใส่ตะกร้าเดียวกัน

26 พ.ย. 2564 | 08:15 น.

เมื่อรัฐจัด “แรงงานต่างชาติ” กับ “ผู้หนีภัยการสู้รบ” ใส่ตะกร้าเดียวกัน แล้วสิทธิมนุษยชนฯ ไทยจะเป็นอย่างไร? บทความโดย... กัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตสะพานสูง และคณะทำงานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน พรรคไทยสร้างไทย

ไทยสุ่มเสี่ยงถูกลดระดับความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ เพราะมาตรการจับกุมคนข้ามแดนผิดกฎหมาย และผลักดันทุกคนกลับประเทศต้นกำเนิด โดยไม่คำนึงถึงสาเหตุการลี้ภัยซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตของอพยพ

 

จากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา หลังทหารปฏิเสธผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 และทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564  ทำให้เกิดการลุกขึ้นต่อต้านทั่วประเทศโดยพลังของประชาชน จนมีการปราบปรามโดยกองกำลังทหารเมียนมาเป็นการล่วงละเมิดด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง มีการจับกุมคุมขังโดยพลการ และปราศจากการใช้ระบบยุติธรรม

การปราบปรามนี้ทำให้ประชาชนต้องลี้ภัย ทำให้เกิดการผลัดถิ่นภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา จากรัฐฉานตะวันออกลงไปถึงพื้นที่เกาะสองในภูมิภาคตะนาวศรีของประเทศ ติดกับชายแดนไทยตั้งแต่ภาคเหนือของไทยจากจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จนถึงจังหวัดระนอง

 

สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเมียนมา เลวร้ายถึงจุดสูงสุด เมื่อกองทัพเมียนมาตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทหารทางอากาศโจมตีที่มั่นของกองพลน้อยที่ 5 ของกองกำลังกู้ชาติกระเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) ณ เมืองพะพูน รัฐกระเหรี่ยงเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 จนทำให้มีประชากรในบริเวณดังกล่าว หวาดกลัวและหลบหนีการประหัตประหารข้ามชายแดนมายังประเทศไทยเกือบหมื่นคน

 

 

และอีกหลายครั้งได้มีการจู่โจมทางอากาศในหลายพื้นที่ของประเทศ จนทำให้เกิดผู้ผลัดถิ่นภายในเมียนมาอย่างน้อยกว่า 200,000 คนทั่วประเทศ ซึ่ง 150,000 คนในจำนวนนี้ ได้กระจายอยู่ในรัฐติดชายแดนกับประเทศไทย 

                                              เมื่อรัฐจัด“แรงงานต่างชาติ”กับ“ผู้หนีภัยการสู้รบ”ใส่ตะกร้าเดียวกัน

การปิดพรหมแดนไทย-เมียนมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้คนเมียนม่าข้ามมาไทยอย่างเป็นทางการไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้คนจากเมียนที่ลี้ภัยสงครามต้องเดินทางเข้าไทยผ่านแนวชายแดนอย่างผิดกฎหมาย ต้องถูกจับกุมและดำเนินการตาม พรบ.ตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ.2521 

 

ราชการไทยได้ผลักคนเหล่านี้กลับโดยใช้เหตุผลว่ากลุ่มคนทั้งหมดที่ข้ามแดนเข้ามายังประเทศไทยเป็นแรงงานต่างด้าวข้ามแดนผิดกฎหมาย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการข้ามแดนดังกล่าวไม่ได้มีแค่แรงงานต่างด้าวเพียงแค่กลุ่มเดียว ยังมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยซึ่งหนีภัยการประหัตประหาร เนื่องจากความหวาดกลัวการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยทหารเมียนมา  

 

ดังนั้น การจับทุกคนมาอยู่ในตะกร้า “แรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย” อย่างเดียวจึงไม่ถูกต้อง เพราะการผลักดันทุกคนกลับเมียนมา โดยเฉพาะบุคคลซึ่งหนีการประหัตประหารถึงชีวิตกลับไปนั้น เป็นการละเมิดจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ตาม “หลักการไม่ส่งกลับ” (non-refouelment) ซึ่งทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม

 

นี่ยังไม่รวมเรื่องที่ UN Special Rapporteur มีจดหมายเปิดผนึกต่อการที่ทางการไทยผลักดันชาวกัมพูชา 3 คนกลับประเทศต้นทาง โดยเน้นย้ำที่ไทยทำผิดจารีตประเพณีระหว่างประเทศในหลักการไม่ส่งกลับ (non-refouelment) ด้วย

 

ถึงแม้ไทยยังไม่ได้ลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาและพิธีสารเรื่องสถานะผู้ลี้ภัย แต่ไทยเป็นประเทศในระบบพหุภาคีในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งต้องปฏิบัติตามจารีตที่กล่าวมา หากคนที่ถูกผลักดันกลับไปเมียนมาและกัมพูชาถูกประหัตประหารแล้ว ไทยเองจะกระทำผิดในจารีตประเพณีระหว่างประเทศดังกล่าว ไทยควรพิจารณาให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศต่อกลุ่มคนผู้ลี้ภัย ตามหลักมนุษยธรรมและคำนึงถึงหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนในเวทีโลกด้วย 

 

การจับคนข้ามแดนผิดกฎหมายมาใส่ตะกร้าเดียวข้างต้น โดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความละเอียดอ่อนด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน จะทำให้ไทยตกอยู่ในสถานะที่สุ่มเสี่ยงในเวทีหารือระหว่างประเทศ ว่าไทยไม่คำนึงถึงหลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศ 

 

และสุดท้ายจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยต่อเวทีโลก ซึ่งจะส่งผลถึงการลดระดับความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจ การค้า และรวมถึงการพัฒนาระหว่างประเทศต่อไป 

 

ดังนั้น ไทยควรพิจารณาให้รอบคอบในการบริหารจัดการเรื่องคนข้ามแดนอย่างเป็นระบบ และคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและการดำเนินการด้านมนุษยธรรมต่อไป