"วิลาศ-วัชระ" ร้องสอบทุจริตสร้าง"รัฐสภาใหม่"ปมค่าน้ำ-ค่าไฟ-เสาไฟ

14 ต.ค. 2564 | 13:06 น.

2 อดีตส.ส.ปชป. ยื่นเรื่องให้สอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ตั้งแต่ค่าน้ำ-ค่าไฟ-เสาไฟ พร้อมขอให้ "ชวน" สอบเงินหล่น 500-1,000ล้านบาท ที่ "อดีต 2 สนช."เคยปูดไว้

วันนี้(14 ต.ค.64) ที่รัฐสภา นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. ประชาธิปัตย์ และ นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนผ่านงานสารบรรณ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภา

 

นายวิลาศ กล่าวว่า ตนยื่นขอให้ตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หลังจากมีผู้ร้องเรียนเรื่องค่าน้ำค่าไฟ ที่พบการขอติดตั้งมิเตอร์ชั่วคราวของกลุ่มบริษัทผู้รับจ้าง เช่น ATTA, CAMA และอื่นๆ เมื่อเดือนมีนาคม 2561 แต่ปัจจุบันพบการย้ายสำนักงานของผู้รับจ้างเข้ามายังในอาคารหลัก เพื่อก่อสร้างภูมิสถาปัตย์ภายนอกอาคาร

 

จากการประสานการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง ทราบว่ามีการขอติดตั้งมิเตอร์ชั่วคราว จึงมีประเด็นคำถามเพื่อให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ คือ 1.ไฟฟ้าที่ต่อจากมิเตอร์ชั่วคราวไม่สามารถใช้กับเครื่องจักรที่ใช้ไฟจำนวนมาก ต้องใช้ไฟของสภาใช่หรือไม่ ถ้าใช่จริง มีการคิดค่าไฟตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 หรือไม่อย่างไร

 

และ 2.ค่าทดสอบระบบไฟรวมที่ต้องทดลองเปิดใช้อุปกรณ์ทุกชนิดที่เกี่ยวกับไฟเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้มีการคิดค่าใช้จ่ายแล้วหรือไม่อย่างไร เพราะขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว มีการเจรจาจ่ายชำระเงิน หรือชำระแล้วหรือไม่ ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้วหรือไม่ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความรับผิดทางละเมิดหรือไม่

 

นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า ตนขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบเสาไฟฟ้าภายนอกอาคาร L03 ความสูง 15 เมตร จำนวน 97 ต้นคือ มีการติดแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 จริงหรือไม่ จากที่เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 สภาฯอนุมัติให้ใช้โคมไฟ L03 ยี่ห้อ Ligman ซึ่งมีเสาไฟ 2 แบบคือ แบบ Alloy เป็น 2 ท่อนต่อกัน

และอีกแบบเป็นเสาเหล็ก เป็นเสาท่อนเดียวยาว 15 เมตร มีการทำ Mock up เสาไฟโดยผู้รับจ้าง ATTA และ CAMA เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ได้เข้าไปตรวจเสาไฟที่ติดตั้งแล้ว พบว่าเป็นเสาเหล็กและเสาที่ยังไม่ได้ติดตั้งเมื่อดูภายในลักษณะเหมือนเอาเหล็กแผ่นมาม้วนแล้วเชื่อมรอยต่อจึงเป็นรอยตะเข็บ อีกทั้งเห็นว่าเสาไม่กลมเรียบสม่ำเสมอ จึงขอให้ตรวจสอบว่าเป็นเสาเหล็กจริงหรือไม่ หรือเป็นเหล็กแผ่นม้วนเท่านั้น

 

"หากเป็นจริงตามนี้ แล้วเอาไปชุบ Galvanize ถือว่าเป็นไปตามแบบแล้วหรือไม่ และเหตุใดไม่ใช้ยี่ห้อ Ligman ตามที่คณะกรรมการตรวจการจ้างอนุมัติ กระบวนการติดตั้งเสาไฟ L03 ทำถูกต้องตามสัญญารวมทั้งขั้นตอนในการขออนุมัติถูกต้องหรือไม่ มีการทำก่อนการอนุมัติหรือไม่ ขอให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบ และหากมีผู้กระทำผิด  โดยเฉพาะหนังสือของบริษัทเรื่องขอใช้เสาไฟว่ามีการสั่งซื้อก่อนที่จะทำ Mock up หรือไม่ โดยอาจตรวจสอบเอกสารการซื้อขายเสาไฟที่กรมสรรพากรอีกทางหนึ่งได้” นายวิลาศ กล่าว

 

ด้าน นายวัชระ ซึ่งยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเงินตกหล่นอยู่ 500 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท จากงบประมาณการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่พร้อมอาคารประกอบ

 

จากกรณีที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อภิปรายต่อที่ประชุมสนช. เมื่ออังคารที่ 16 กันยายน 2557  ระบุว่างบประมาณก่อสร้างอาคารรัฐสภามีเงินตก 2ก้อนใหญ่ และ คำกล่าวของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อดำรงตำแหน่ง ประธานสนช. พูดเมื่อ วันพุธที่ 24 กันยายน 2557  ในพิธีมอบนโยบายการบริหารราชการของประธานสนช. ระบุถึงเงินตกหล่น 500 ล้านบาท - 1,000 ล้านบาท และได้ตรวจสอบ ซึ่งได้ตรวจสัญญา และพบว่าเป็นสัญญาที่แย่ สร้างได้ 6%

 

“ผมขอเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยขอให้มีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) หรือสำนักงานอัยการสูงสุด หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือสมาชิกวุฒิสภาและหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมการสอบสวนด้วย เพราะสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาควรเริ่มต้นกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดปราศจากการคอร์รัปชัน” นายวัชระ กล่าว