ระเบิดศึก เลือกตั้ง อบต. ‘กทม.-พัทยา’ ปีหน้า

08 ก.ย. 2564 | 07:09 น.

ระเบิดศึก เลือกตั้ง อบต. ‘กทม.-พัทยา’ปีหน้า : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,712 หน้า 12 วันที่ 9 - 11 กันยายน 2564

ในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้ให้ความเห็นชอบการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นการเลือกตั้งเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (เลือกตั้ง อบต.) ก่อนภายในปีนี้ ขณะที่การเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ เมืองพัทยา จะเป็นการเลือกตั้งในลำดับถัดไป 

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2564 ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ เมืองพัทยา ตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย เสนอ โดยมอบให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปพิจารณาเวลาที่เหมาะสมต่อไป

 

ทั้งนี้ในส่วนการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่ง ให้กำหนดจัดเลือกตั้งภายในปีนี้ ส่วนกรุงเทพมหานคร (การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิก สภากทม.) และ เมืองพัทยา จะกำหนดในลำดับถัดไป 

 

เลือกตั้งกทม.-พัทยาปีหน้า

 

โดยกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมพร้อมด้านงบประมาณ และ สำนักงานกกต. ออกระเบียบ และประกาศ กกต. พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้ด้วยแล้ว 

 

ขณะเดียว กันให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ขององค์การบริหารส่วนตำบลกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา โดยกำหนดรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ไว้ในข้อบัญญัติรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมสำหรับกรณีการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติ ครม. ที่ออกมาให้มีการเลือกตั้งเฉพาะ อบต. ก่อน นั่นหมายความว่า การเลือกตั้้งผู้ว่าฯ กทม. และ เมืองพัทยา จะไม่เกิดขึ้นภายในปีนี้ คงต้องไปรอกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้าต่อไป 

 

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า การกำหนดวันเลือกตั้ง อบต. ทาง กกต.จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งแต่ละ อบต.จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งอยู่ที่ 700,000- 1,000,000 บาท ทั้งหมดใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ เมืองพัทยา คงจะเกิดขึ้นได้ในปีหน้า  

 

กกต.พร้อมเลือกตั้งอบต. 

 

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุม ครม. ในวาระการพิจารณาจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น โดย ครม.เห็นชอบจัดการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่งก่อน และกกต.ได้ออกประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจัดการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว และประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2562   

 

โดยในช่วงระหว่างวันที่ 1-15 ต.ค. 2564 กกต.จะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และช่วงวันเลือกตั้งจะเป็นช่วงระหว่าง  28 พ.ย. - 12 ธ.ค. 2564 ซึ่งตามกระบวนการ กกต. จะรอหนังสือแจ้งจาก ครม.อย่างเป็นทางการ ก่อนจะนัดประชุม กกต.เพื่อประกาศวันเลือกตั้งต่อไป   

 

ส่วนข้อสังเกตเรื่องสถานการณ์โควิด-19  พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า จะเป็นการจัดเลือกตั้งภายใต้รูปแบบนิวนอร์มอล เข้มงวดมาตรการป้อง กันโควิด-19  หากสถานการณ์ระบาดหนักในช่วงกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ สามารถที่จะเลื่อนได้ตามกรอบกฎหมายที่กำหนดเปิดช่องทางไว้ 

ระเบิดศึก เลือกตั้ง อบต. ‘กทม.-พัทยา’ ปีหน้า

 

 

หย่อนบัตร 28 พ.ย.-12 ธ.ค.

 

สำหรับการเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง ตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยวาระดำรงตำแหน่งของ สมาชิกสภา อบต. และนายก อบต. รวมถึงผู้ว่าฯ กทม. และ สมาชิกสภา กทม. และเมืองพัทยา ครบวาระตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 แต่คำสั่ง คสช.ให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองการเลือกตั้งท้องถิ่น เสนอแผนงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายการดําเนินการ ดังนี้

 

วันที่ 1-14 ก.ย. 2564     คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

 

วันที่ 1-15 ต.ค. 2564     สํานัก งาน กกต.ประกาศกําหนดให้มีการเลือกตั้ง อบต. 

 

วันที่ 28 พ.ย.- 12 ธ.ค. 2564 เป็นวันเลือกตั้ง อบต.

 

10 จังหวัดมีอบต.มากสุด

 

สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อมูลของกองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนต.ค. 2563 มีจำนวน อบต.ทั้งประเทศ อยู่ที่ 5,300 แห่ง 

 

โดยจำนวน อบต. จังหวัดมีจำนวนมากที่สุด 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1. นครราชสีมา 243 แห่ง 2. ศรีษะเกษ 179 แห่ง เท่ากับอุบลราชธานี 179 แห่ง 3. บุรีรัมย์ 145 แห่ง 4. สุรินทร์ 144 แห่ง 5. ขอนแก่น 140 แห่ง 6. นครศรีธรรมราช 130 แห่ง 7. ร้อยเอ็ด 129 แห่ง 8. มหาสารคาม 123 แห่ง 9. พระนครศรีอยุธยา 121 แห่ง เท่ากับนครสวรรค์ 121 แห่ง และ 10. อุดรธานี 109 แห่ง

 

ขณะที่จำนวนสมาชิก อบต. (ส.อบต.) กำหนดให้มี ส.อบต.เขต ละ 1 คน ให้สภามีจำนวนสมาชิก เริ่มต้นที่ 6 คน ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ มี 1 เขตเลือกตั้งให้มี ส.อบต. จำนวน 6 คน, มี 2 เขตเลือกตั้งให้มี ส.อบต.เขตเลือกตั้งละ 3 คน, มี 3 เขตเลือกตั้งให้มี ส.อบต.เขตเลือกตั้งละ 2 คน

 

พื้นทีที่มี 4 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน และให้เพิ่ม ส.อบต.แก่เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด 2 ลำดับ ลำดับละ 1 คน, มี 5 เขตเลือกตั้ง ให้สภา อบต. มี ส.อบต.เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน และให้เพิ่ม ส.อบต.แก่เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน

 

ในกรณีที่หมู่บ้านใดมีจำนวนราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้นายอำเภอ รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นเขตเลือกตั้งเดียว โดยถือจำนวนราษฎร ณ วันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการเลือกตั้ง และต้องประกาศภายในวันที่ 31 ม.ค. ของปีที่มีการเลือกตั้ง

 

อำนาจหน้าที่ กกต.

 

ด้านอำนาจหน้าที่ของ อบต.นั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล 2537 ตามมาตรา 66 กำหนดให้ อบต.ทำหน้าที่พัฒนาตําบลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาตรา 67 ต้องมีหน้าที่จัดให้มีและบํารุงทางนํ้าและทางบก รักษาความสะอาดของถนน ทางนํ้า ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกําจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล

 

นอกจากนี้ อบต.ยังมีภารกิจป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและพิการ คุ้มครอง ดูแลและบํารุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บํารุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย

 

คุณสมบัติผู้สมัคร อบต.

 

สำหรับคุณสมบัติผู้สมัคร อบต. นั้น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ต้องมีอายุไม่ตํ่ากว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัคร รับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

 

ขณะที่ลักษณะต้องห้ามหาเสียงเลือกตั้ง อบต. ยึดโยงกับการเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบอื่น อาทิ ไม่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง ไม่ใช่ถ้อยคำรุนแรง หรือปลุกระดมให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่หรือห้ามช่วยเหลือเงินหรือประโยชน์อื่นใดที่คำนวณเป็นเงินได้ให้ผู้อื่นตามประเพณีต่างๆ

 

ส่วนอัตราค่าสมัครรับเลือกตั้งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 2562 กำหนดให้ผู้สมัครนายกอบต.มีค่าสมัครอยู่ที่ 2,500 บาท และสมาชิกสภา อบต. อยู่ที่ 1,000 บาท

 

ว่ากันว่า แม้จะเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เชื่อว่าการเลือกตั้ง อบต.จะมีความเข้มข้น ไม่แพ้การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด และ เทศบาล ที่ผ่านมาแน่นอน