“ภูมิใจไทย”โวยซ้ำหั่นงบ“สธ.-ท่องเที่ยว” ตัด 1.2 หมื่นล้านซื้อวัคซีนโควิด 

31 พ.ค. 2564 | 11:09 น.

“ภูมิใจไทย”โวยซ้ำสำนักงบฯ หั่นงบ“สธ.-ท่องเที่ยว” กรมคุมโรคเสนอขอ 1.2 หมื่นล้าน จัดซื้อวัคซีน 70 ล้านโดส มาฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศ แต่กลับถูกตัดออก หวังปรับชั้นกมธ. 

วันนี้ (31 พ.ค.64) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565  นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย(ภท.) อภิปรายว่า สถานการณ์ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างรุนแรง จึงไม่แปลกที่จะเห็นการจัดสรรงบในปีนี้มีการรับลดเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท เพราะช่วงที่ผ่านมามีการจัดสสรงบที่ไม่เป็นไปตามเป้า

สถานการณ์ที่ขณะนี้ ตนคาดหวังการจัดสรรที่เป็นไปตามสถานการณ์ประเทศ ในปีนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมหาวิกฤติโควิด การจัดสรรจึงต้องจัดสรรไปที่กระทรวงหลักๆ คือ กระทรวงสาธารณสุข แต่ตัวเลขที่เห็นกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“ที่สำคัญทางกรมควบคุมโรค ได้เสนองบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีน 70 ล้านโดส มาฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศ แต่งบส่วนนี้กลับถูกตัดออก โดยอ้างเหตุผลว่าจะให้ไปใช้งบกลางหรืองบเงินกู้ นี่จึงเป็นความผิดหวังต่อการจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณในปีนี้”
 

นายภราดร อภิปรายต่อไป การจัดสรรงบประมาณส่วนท้องถิ่น มีบางโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เป็นคามเดือดร้อนประชาชน แต่กลับถูกตัดออกจากงบประมาณ โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการกระจายอำนาจ

นอกจากนี้ การจัดสรรงบในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ได้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการเปิดประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ซึ่งมีหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ในปีที่แล้วมีการจัดสสรรงบประมาณเป็นจำนวน 4.8 พันล้าน แต่ปีนี้กลับถูกตัดเหลือเพียง 2.8 พันล้าน หรือถูกตัดไปถึง 2 พันล้าน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรงบที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข มีการตัดงบกว่า 4 พันล้านบาท อีกทั้งค่าตอบแทนอสม.จำนวน 6 พันล้านบาท สำนักงบประมาณก็โอนมาให้ไม่ครบ ทั้งยังตัดงบกรมควบคุมโรคไปอีก 500 ล้านบาท เช่นเดียวกับงบ สปสช.ที่มีการจัดสรรงบที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ 

“ตรงนี้ถือเป็นความเจ็บปวดของกระทรวงสาธารณะสุข สวนทั้งกับนโยบายนายกฯ ในการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ”

ขณะที่สวัสดิการในการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. โดยเฉพาะเบี้ยเสี่ยงภัยพบว่า กว่า 1 ปีบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบในส่วนนี้ สิ่งเหล่านี้ตนจึงอยากสะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ 

ส่วนการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่มีการระบุว่าจะมีการจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุข 3 แสนล้าน เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถคาดหวังได้ เพราะเรามีกำแพงสำคัญคือ สภาพัฒน์

“ทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกผิดหวัง และหวังว่าจะมีการนำข้อแนะนำเหล่านี้ไปปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ” ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ระบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :