"ประยุทธ์" ยัน! ไม่ใช้ "ม.44" แก้ทุจริต "กองทุนเสมาฯ" เล็งใช้มาตรการดองคนทุจริต 3 ปี

28 มี.ค. 2561 | 06:38 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม ระบุ จะมีการใช้มาตรา 44 กับข้าราชการทุจริตในกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กระทรวงศึกษาธิการ ว่า วันนี้ในที่ประชุม คสช. ตนให้แนวทางในเรื่องการพิจารณาบทลงโทษการทุจริตที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น

“โดยออกมาตรการต่อต้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้กับรัฐบาล เพราะ คสช. มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเสนอมาตรการให้รัฐบาลปฏิบัติ เช่น กรณีที่มีข้อร้องเรียนมาก็ให้ต้นสังกัดตรวจสอบขั้นต้นภายใน 7 วัน และให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้ามีมูลก็ปรับย้ายออกมาก่อน ถ้าร้ายแรงก็ย้ายมาที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ-ทหาร และรัฐวิสาหกิจ และถ้าผิดจริงก็จะมีทั้งเรื่องวินัย คดีอาญาและแพ่ง แต่ถ้าไม่ถึงขั้นไล่ออกก็กำหนดห้ามปรับย้ายสูงขึ้นหรือเทียบเท่าตำแหน่งเดิม ขึ้นบัญชีไว้ 3 ปี ไม่เช่นนั้นจะไม่กลัวกัน ไม่ใช่พอตรวจสอบเสร็จก็กลับมาใหม่อีกต่อไปนี้ไม่ให้แล้ว ส่วนอีกเรื่องคือ การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดประสิทธิผล ไม่ตรงตามนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาเกียร์ว่าง วันนี้จะเข้มงวดทั้งหมด ไม่เช่นนั้น สื่อและสังคมไม่ไว้วางใจและปัญหาจะกลับมาที่รัฐบาลอีก”

 

[caption id="attachment_272471" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.[/caption]

เมื่อถามว่า สรุปแล้วยังไม่ออกมาตรา 44 แก้ปัญหาทุจริตกองทุนเสมาฯ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่ใช้ ม.44 เพราะมีกฎหมายอยู่แล้วเพียงแต่เข้มงวดขึ้น ซึ่งขั้นตอนแรกเป็นเรื่องของกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน และ 30 วัน อีกขั้นเป็นเรื่องของกรรมการสอบสวนในเรื่องวินัย ว่า ควรจะย้ายออกหรืออยู่ในกระทรวง จากนั้นเป็นขั้นตอนตามกฎหมายคดีอาญาและแพ่ง เช่น กรณีการทุจริตเงินผู้ไร้ที่พึ่งของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ กรณีของกระทรวงศึกษาธิการมีคณะอนุกรรมการสามัญ (อ.ก.พ.) ประจำส่วนราชการระดับกระทรวงดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจจะให้ออกจากราชการไว้ก่อนก็ได้”

เมื่อถามว่า กรณีทุจริตกองทุนเสมาฯ คิดว่า เป็นขบวนการใหญ่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "เขาตรวจสอบอยู่ ประเด็น คือ ทำไมอยู่นานนัก ผมก็ไม่เข้าใจตรงนี้เหมือนกัน แต่เขาบอกว่า รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว คราวนี้ก็ต้องไปสอบว่า ใช่หรือไม่ใช่ ถึงใครก็ถึงคนนั้น รัฐบาลก็เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบให้เร็วขึ้น เอาหน่วยงานภายนอกไปตรวจสอบด้วย มีทั้ง ศอตช.-ป.ป.ช.-ปปง.-ป.ป.ท. และถ้าจำเป็นก็มี ม.44 ประเด็นสำคัญผู้ที่มีความมัวหมองในเรื่องทุจริตหรือเรื่องอื่นทุกกรณีที่มีผลกระทบ อย่างการค้ามนุษย์อะไรต่าง ๆ เราจะไม่มีการปรับย้าย 3 ปี ถ้ามีคดีอาญาก็เอาออกไป ให้มีความเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เวลา 3 ปี ไม่ใช่เบา ปรับย้ายไม่ได้ก็ลอยอยู่อย่างนั้น ถ้าผิดก็เอาออก วันนี้ตัวอย่างอันแรกข้าราชการของตำรวจอาจจะเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ระดับพ.ต.อ. ลงมา 14 ราย ย้ายมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและจะพิจารณาต่อว่าจะให้ออกจากราชการหรือไม่”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า เชื่อหรือไม่ผู้ที่ทุจริตกองทุนเสมาฯ ดำเนินการเพียงคนเดียว พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า "จะไปเชื่ออะไร ต้องเชื่อด้วยหลักฐาน โอนเงินไปที่ใคร ถ้าไม่มีหลักฐานแล้วตนจะไปเชื่อใคร หลักฐานมีเพียงอย่างเดียวว่า มีเงินขาดหายไปจากบัญชีตรงนี้ โอนเข้าไป 20 บัญชี ก็ไปดูมาอย่างไร บางทีไม่มีชื่อเจ้าของบัญชีก็ต้องไปสอบต่อจากกระบวนการธนาคารที่เป็นคนโอนเงิน มันสอบได้อีกไกลแต่ขั้นตอนแรกคนแรกโดนก่อน”

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของ พม. ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น 59 ศูนย์ พบการทุจริต 21 ศูนย์ ไม่พบ 8 ศูนย์ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 30 ศูนย์ โดยศูนย์ที่ตรวจพบการทุจริตนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมาเป็นล็อต ๆ ซึ่งล็อตแรกตรวจสอบเสร็จแล้ว จะมีการรายงานผลมาให้ตนทราบในวันเดียวกัน (27 มี.ค.) เบื้องต้น พบข้าราชการระดับ 7 และ 8 เกี่ยวข้องจำนวน 5 คน โดยจะพิจารณาลงโทษให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ ส่วนล็อตที่ 2 จะทยอยได้ข้อสรุปและลงโทษต่อไป ยืนยันว่า ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างแท้จริง จะได้ไม่มีการมาร้องเรียนภายหลัง

 

[caption id="attachment_272475" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์[/caption]

เมื่อถามว่า ในส่วนที่พบการทุจริตสามารถเชื่อมโยงไปถึงปลัดและรองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่ถูกคำสั่งย้ายมาประจำสำนักนายกฯ ก่อนหน้านี้หรือไม่ พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า มีการให้การเชื่อมโยงทั้งหมด เพราะการทุจริตครั้งนี้มีทั้งเจ้าตัวปฏิบัติเอง และมีการสั่งให้ปฏิบัติ เมื่อถามว่า นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาระบุว่า การทุจริตดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การวิ่งเต้นตำแหน่งเพื่อให้ได้ลงไปทุจริตในพื้นที่ด้วย พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ยอมรับว่ามีส่วน ข้อมูลจากทุกหน่วยตรงกัน ถือเป็นวงจร ภายใน 2 เดือนนี้ จะตัดวงจรแบบถอนรากถอนโคน

เมื่อถามว่า ตกใจหรือไม่เมื่อเข้ามาทำงานกระทรวงนี้แล้วพบการทุจริตจำนวนมาก พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า “ผิดหวังกับชื่อกระทรวง แต่คนดีเขายังมี คนไม่ดีต้องลงโทษกันไป ใครไม่ดีต้องลงโทษ ใครที่ดีต้องให้ก้าวหน้า คนในกระทรวงคงเข้าใจว่า ช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤติของกระทรวง โดยวันที่ 28 มี.ค. จะมีการประชุมเรื่องยุทธศาสตร์การฟื้นฟูภาพลักษณ์กระทรวง ใครมีข้อมูลขอให้เอามาให้โดยเร็ว เรื่องจะได้จบ ไม่ต้องกลัวผู้บังคับบัญชาจะกลับมาใหม่แล้วลงโทษตัวเอง ยืนยัน เราเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ นายกฯ กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้เอาจริงโดยการตรวจสอบทั้งหมดจะยังใช้กฎหมายปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44”


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 73/2561 เรื่อง ให้ข้าราชการปฏิบัติบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี กรณี การค้ามนุษย์เป็นปัญหาร้ายเเรง ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนกระทำความผิด จึงต้องดำเนินการทางวินัยและทางอาญา จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน 2534 สั่งย้าย 13 นายตำรวจ และ 1 ข้าราชการพลเรือน มาช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ กล่าวว่า ตำรวจทั้ง 13 นาย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้ช่วยราชการสำนักนายกฯ นั้น สาเหตุมาจากตำรวจกลุ่มนี้ถูกดำเนินคดีจากกรณีเกี่ยวพันการค้ามนุษย์ อาทิ กรณีสถานบริการนาตาลี อาบอบนวด กทม. และสถานบริการใน อ.ภูเรือ จ.เลย โดยทั้งหมดถูกดำเนินคดีใน ป.ป.ช.-ป.ป.ท. การให้พ้นจากตำแหน่งไปช่วยราชการที่สำนักนายกฯ ก็เพื่อให้การดำเนินการทางวินัย เป็นไปด้วยความรวดเร็ว หากพบหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีความผิดจริง ต้องดำเนินการทางวินัยให้ถึงที่สุด

 

[caption id="attachment_272480" align="aligncenter" width="503"] พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ[/caption]

“อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้กำชับมาโดยตลอดว่า     ตำรวจห้ามเกี่ยวข้องกระทำผิดกฎหมาย โดยเรื่องค้ามนุษย์ เเละยังสั่งการให้ปราบปรามจริงจัง”


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ครม. เห็นชอบแนวปฏิบัติของ คสช. ในการป้องกันและปราบปรามทุจริตระบบราชการ
“กฤษฏา” ย้ำกฎเหล็ก “ไทยนิยม" งบ 2.4 หมื่นล. สั่งจ่ายตรงอุดช่องทุจริต


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว