ยศตำรวจ "ผู้กอง" กับ "สารวัตร" แตกต่างกันอย่างไร

09 มิ.ย. 2566 | 17:55 น.

ปมเลื่อนยศ ร.ต.อ.หญิง ทำให้หลายคนสงสัยว่า ยศตำรวจ ระหว่าง "ผู้กอง" กับ "สารวัตร" มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง รวมทั้งดาวบนบ่าของตำรวจได้มาอย่างไร

ประเด็นร้อนการเลื่อนยศ ร.ต.อ.หญิง กำลังเป็นที่จับตาของสังคม เเต่เคยสงสัยกันไหมว่าเวลาที่ยินหรือเราเองเรียกตำรวจไม่ว่าจะเป็น "ผู้กอง" และ "สารวัตร" มีความหมายเเละข้อแตกต่างกันอย่างไร 

“สารวัตร” นั้น ถือเป็นผู้บริหารชั้นต้น ถ้าเทียบเป็นข้าราชการพลเรือนจะเทียบได้กับระดับชำนาญการ โดย “สารวัตร” ใช้เรียกผู้ครองยศ ตั้งแต่ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.) พันตำรวจตรี (พ.ต.ต) พันตำรวจโท (พ.ต.ท.)

 “ผู้กอง” ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่กำหนดไว้ทางการ แต่ตามความเข้าใจ ผู้กองจะใช้เรียกตำรวจที่มียศ ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.)

 

ดาวบนบ่าตำรวจ ต้องมีชั้นยศร้อยตำรวจขึ้นไป ซึ่งยศชั้นร้อยตำรวจจะมีด้วยกันอยู่ 3 ตำแหน่ง ได้แก่

  • ร้อยตำรวจตรี (ร.ต.ต.) รับเครื่องหมายยศนายร้อยตำรวจ เป็นดาวสีเงินเพื่อติดบนบ่าข้างละ 1 ดวง ซึ่งตำแหน่งนี้จะถูกเรียกว่า ผู้หมวด หรือ หมวด ตัวย่อคือ มว.
  • ร้อยตำรวจโท (ร.ต.ท.) รับเครื่องหมายยศนายร้อยตำรวจ เป็นดาวสีเงินเพื่อติดบนบ่าข้างละ 2 ดวง ซึ่งตำแหน่งนี้จะถูกเรียกว่า ผู้หมวด หรือ หมวด ตัวย่อคือ มว.
  • ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.) รับเครื่องหมายยศนายร้อยตำรวจ เป็นดาวสีเงินเพื่อติดบนบ่าข้างละ 3 ดวง ซึ่งตำแหน่งนี้จะถูกเรียกว่า ผู้กอง หรือ รองสารวัตร ตัวย่อของรองสารวัตร คือ สว.

ตำรวจ มี 14 ยศ 13 ตำแหน่ง 

ชั้นสัญญาบัตร
1. พลตำรวจเอก หรือ พล.ต.อ. (Police General)
2. พลตำรวจโท หรือ พล.ต.ท. (Police Lieutenant General)
3. พลตำรวจตรี หรือ พล.ต.ต. (Police Major General)
4. พันตำรวจเอก หรือ พ.ต.อ (Police Colonel)
5. พันตำรวจโท หรือ พ.ต.ท. (Police Lieutenant Colonel)
6. พันตำรวจตรี หรือ พ.ต.ต. (Police Major)
7. ร้อยตำรวจเอก หรือ ร.ต.อ. (Police Captain)
8. ร้อยตำรวจโท หรือ ร.ต.ท. (Police Lieutenat)
9. ร้อยตำรวจตรี หรือ ร.ต.ต. (Police Sub-Lieutenant)

ชั้นประทวน
10. ดาบตำรวจ หรือ ด.ต. (Police Senior Sergeant Major)
11. จ่าสิบตำรวจ หรือ จ.ส.ต. (Police Sergeant Major)
12. สิบตำรวจเอก หรือ ส.ต.อ. (Police Sergeant)
13. สิบตำรวจโท หรือ ส.ต.ท. (Police Corporal)
14. สิบตำรวจตรี หรือ ส.ต.ต. (Police Lance Corporal)

ตำรวจ มี 13 ตำแหน่ง 

1. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
2. จเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.)
3. ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.)
4. ผู้บัญชาการ (ผบช.)
5. รองผู้บัญชาการ
6. ผู้บังคับการและพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ
7. รองผู้บังคับการและพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ
8. ผู้กำกับการและพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ
9. รองผู้กำกับการและพนักงานสอบสวนผู้ชาญการพิเศษ
10. สารวัตรและพนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ
11. รองสารวัตรและพนักงานสอบสวน
12. ผู้บังคับหมู่
13. รองผู้บังคับหมู่