คดี "แอมไซยาไนด์" หมอพรทิพย์ ชี้ช่องโหว่ ทำผู้ต้องหารอดคดี

01 พ.ค. 2566 | 13:30 น.

คดี "แอมไซยาไนด์" ผู้ต้องหาในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาลักทรัพย์ กับหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด หมอพรทิพย์ ชี้นิติวิทยาศาสตร์มีช่องโหว่ ขาดเจ้าภาพ เหตุผู้ต้องหารอดคดี

จากคดี "แอมไซยาไนด์" หรือ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ ผู้ต้องหาในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาลักทรัพย์ โดยในปัจุบันได้ถูกดำเนินคดีตามหมายจับ อย่างน้อย 10 หมายด้วยกัน นำมาสู่คำถามของสังคม ต่อพยานหลักฐานเพื่อยืนยันการกระทำความผิดของคนร้าย เนื่องจากหลายคดีเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนานแล้ว บางรายไม่มีการผ่าชันสูตร บางรายฌาปนกิจศพ(เผาศพ)ไปแล้ว

แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ถึงกรณีดังกล่าวว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้จากจุดเกิดเหตุที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ในสถานที่ต่างๆ ภาชนะ เหล่านี้เป็นต้น ส่วนสารไซยาไนด์ในร่างผู้เสียชีวิตนั้น ก็เป็นเพียงอีกจุดเกิดเหตุหนึ่ง ซึ่งหลักฐานไม่ได้อยู่เฉพาะที่ศพ สิ่งสำคัญคือ ผู้รวบรวมพยานหลักฐาน มีความรู้เพียงพอที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการดำเนินคดีหรือไม่

ซึ่งแม้จะสามารถรวบรวมพยานหลักฐานจากจุดเกิดเหตุใดๆก็ได้ แต่ต้องยอมรับว่าพยานหลักฐานจากศพ เป็นส่วนสำคัญที่สุด สภาพศพจากการเสียชีวิตด้วยสารไซยาไนด์นั้น สีของเลือดจะสดแดง แต่ปลายมือ และสภาพผิวหนังจะคล้ำเนื่องจากเซลล์ขาดออกซิเจน ซึ่งหากมีการผ่าชันสูตรศพจะสามารถทราบได้  และสามารถเห็นสถิติการเสียชีวิตที่ผิดปกติจากไซยาไนด์ได้

พญ.คุณหญิง พรทิพย์กล่าวถึงช่องโหว่ ของกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์ของประเทศไทยว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นระบบตำรวจ หากการตายนั้นญาติไม่ติดใจ ตำรวจไม่ติดใจก็จบ ต่างกับในต่างประเทศ ที่เป็นระบบศาล(coroner) แม้ญาติไม่ติดใจ แต่ศาลเห็นว่าเพื่อความกระจ่าง และเป็นธรรม เพื่อสิทธิของคนตายให้ผ่า ก็ต้องผ่า 

ช่องโหว่ที่ทำให้ผู้กระทำความผิดหลุดรอด จากการตรวจสอบพิสูจน์ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีแนวปฏิบัติในการหาสาเหตุการตาย แตกต่างจากต่างประเทศ  ที่มีการกำหนดให้หมอนิติเวชจะต้องไปยังที่เกิดเหตุ และกรณีที่หมอนิติเวชต้องตรวจพิสูจน์ศพโดยสมบูรณ์ ซึ่งมีประมาณ 10 กรณี หนึ่งในนั้น คือการตายกระทันหันของเด็ก และสตรี รวมถึงการตายที่กระทบเรื่องสิทธิ หรือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ปัญหาหลักของระบบนิติวิทยาศาสตร์ ในประเทศไทยคือ การไม่มีเจ้าภาพในการบริหารจัดการ ไม่มีฐานข้อมูลกลาง ไม่มีหน่วยงานที่ทำการวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว ทั้งเรื่องการกระจายแพทย์นิติเวชลงไปในพื้นที่ต่างๆ  ซึ่งเป็นอำนาจภายใต้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แต่ที่ผ่านมาไม่มีการมุ่งเน้นเรื่องนิติเวช เพื่อกระบวนการยุติธรรม เนื่องจาก สธ. ให้ความสำคัญกับงานรักษาพยาบาลเป็นหลัก แม้แต่ผู้ป่วยจากการถูกทำร้ายร่างกาย หรือ ถูกข่มขืน ซึ่งมีค่าใช้จ่าย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ยังไม่มีงบประมาณ ที่จะช่วยสนับสนุนงานด้านนิติเวช 

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการเขียนแผนปฏิรูป โดยกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นการปฏิรูประบบนิติเวชไว้แล้ว  โดยเฉพาะ ข้อ 8 ในแผนปฏิรูป ที่เป็นแผนปฏิรูปนิติเวช ที่ระบุว่าให้ สธ. จัดตั้งหน่วยขึ้นมาเป็นเจ้าภาพ ในการดูแลงานชันสูตรศพให้ครอบคลุม ทั่วถึง โดยไม่เบียดบังงบประมาณด้านรักษาพยาบาล ทั้งการกำหนดเรื่องค่าใช้จ่าย หน่วยงานบริการ และมาตรฐาน แต่ปรากฏว่า แผนดังกล่าวรัฐบาลยังไม่หยิบขึ้นมาขับเคลื่อนแต่อย่างใด   ทั้งนี้หากรัฐบาลหน้ามีความประสงค์จะดำเนินการตามแผนปฏิรูปดังกล่าว สามารถนำมาขับเคลื่อนต่อได้เลยทันที พญ.คุณหญิง พรทิพย์ กล่าวทิ้งท้าย