กางกฎหมาย เมื่อ "แอมไซยาไนด์" เคยเป็น "ผู้ป่วยจิตเวช"

27 เม.ย. 2566 | 22:43 น.

กางกฎหมาย เมื่อ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ซึ่งโลกโซเชียลให้ฉายาว่า "แอมไซยาไนด์" เคยเป็น"ผู้ป่วยจิตเวช" เข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวช ที่สถาบันกับยาณ์ราชนครินทร์ เมื่อ 5 ปีก่อน

ความคืบหน้ากรณี นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ “แอม” ผู้ต้องหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จากเหตุที่ นางสาวศิริพร ขันวงษ์ หรือ ก้อย เสียชีวิตโดยผลการชันสูตรพบว่ามีสารพิษอยู่ในเลือดเป็นกลุ่มไซยาไนด์ สอดคล้องกับหลักฐานเป็น ขวดไซยาไนด์ ที่พยานนำมามอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

ล่าสุด นายต้าร์ กับ น.ส.จอย แฟนหนุ่ม และ เพื่อนสนิทของ น.ส.หนิง เหยื่อผู้เสียชีวิตในพื้นที่ จ.มุกดาหาร ได้เข้าให้ปากคำ ในฐานะพยาน กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เนื่องจากคาดว่าน.ส.หนิง อาจถูกวางยาเพื่อล้างหนี้หลักแสนด้วยเช่นเดียวกัน

ด้าน นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เปิดเผยว่า ตรวจสอบประวัติ พบแอม เคยเข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวช ที่สถาบันกับยาณ์ราชนครินทร์ เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องและไม่รับประทานยามา 2 ปี ส่วนรายละเอียดเรื่องการรักษาในขณะนั้น ไม่แน่ชัด โดยทัณฑสถานหญิงกลางมีการดูแลผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นจิตเวชอยู่แล้ว ในกรณีนี้ก็จะส่งจิตแพทย์ให้เข้ามาพูดคุยบ่อยครั้งในช่วงแรก รวมถึงระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ ก็จะจ่ายยาให้รับประทานตามขั้นตอนของแพทย์จิตเวช

กางกฎหมาย เมื่อ \"แอมไซยาไนด์\" เคยเป็น \"ผู้ป่วยจิตเวช\"

กางกฎหมาย กรณี "ผู้ป่วยจิตเวช" กระทำความผิดอาญา

ในประมวลกฎหมายอาญา หมวด 4 ความรับผิดในทางอาญา ระบุถึงการรับโทษ สำหรับผู้ป่วยทางจิตเมื่อกระทำความผิดอาญาเอาไว้ดังนี้

ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ (มาตรา 65 )

และกฎหมายยังได้ระบุด้วยว่า จะอ้างเหตุจากการเสพย์สุราหรือสิ่งเมา ว่าทำให้ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้นเกิดขึ้นโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือถูกขืนใจให้เสพย์ และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้

กรณีนี้ ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับยกเว้นโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ (มาตรา 66 )  

ทั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานที่ว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น หรือหเป็นการกระทำโดยประมาท แต่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิด เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา 

กระทำโดยประมาท หมายถึง กระทำความผิดโดยไม่มีเจตนา แต่กระทำโดยไม่มีความระมัดระวัง ซึ่งต้องพิจารณา ตามวิสัยและพฤติการณ์ และกฎหมายยังกำหนดด้วยว่า การกระทำในที่นี้ รวมถึงการไม่กระทำ เพื่อป้องกันซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นด้วย (มาตรา 59)   

ทั้งนี้ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เคยกล่าวถึงประเด็นผู้กระทำความผิดอ้างว่ามีอาการป่วยทางจิตเวช ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ในข่าวประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิตว่า กรณี ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่รักษาจนบรรเทาแล้วไปก่อคดีฆาตกรรมก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นเหตุยกเว้นการรับโทษหรือรับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งการตรวจประเมินทางนิติจิตเวชทางการแพทย์เป็นกระบวนการหนึ่ง ศาลจะนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณา