"แอมไซยาไนด์" กับ พฤติกรรมรุนแรง หรือ "โรคจิตเวช"

28 เม.ย. 2566 | 09:15 น.

"แอมไซยาไนด์" นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ กับ พฤติกรรมความรุนแรงตามข้อกล่าวหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กับคำถามสังคมว่าเป็นเพราะมีพฤติกรรมรุนแรง หรือ อาการจาก"โรคจิตเวช"

หลายครั้งที่ปรากฏเป็นข่าว กรณีเกิดเหตุความรุนแรง โดยมีการทำร้ายร่างกาย หรือก่อเหตุอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต บาดเจ็บ หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน โดย "พฤติกรรมความรุนแรง" ของผู้ก่อเหตุนั้น บางครั้งถูกระบุว่าเป็นเพราะอาการป่วยทางจิต หรือ เป็น "ผู้ป่วยจิตเวช"

กรณี "แอมไซยาไนด์" หรือ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ ผู้ต้องหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีข้อมูลว่าเคยเข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวช ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องและไม่รับประทานยามา 2 ปี นำมาสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่า พฤติกรรมรุนแรงนั้น เกิดจากโรคจิตเวชหรือไม่ 

พฤติกรรมรุนแรง

ในทางการแพทย์ ได้ระบุถึงความสัมพันธ์ และความแตกต่าง ระหว่าง "พฤติกรรมรุนแรง" และ "โรคจิตเวช" เอาไว้อย่างชัดเจน

พฤติกรรมรุนแรง คืออะไร

พฤติกรรมความรุนแรง คือ การแสดงออกที่มีความก้าวร้าวทั้งการกระทำทางวาจา เช่น ด่าทอเสียดสี ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ซึ่งอาจรุนแรงไปถึงการก่ออาชญากรรม โดยพฤติกรรมรุนแรง ไม่จำเป็นต้องเป็นอาการทางจิตเวชเสมอไป ต้องพิจารณาหลายด้านประกอบกัน และขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของพฤติกรรมส่วนบุคคล

สาเหตุ ของพฤติกรรมรุนแรง

พฤติกรรมรุนแรงจาก ภาวะทางอารมณ์
เกิดจากการถูกกดดัน หรือถูกรบกวนทางอารมณ์ ทำให้เกิดอารมณ์โกรธ หงุดหงิด บางรายอาจแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมา ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดจากสาเหตุนี้มักมีเป็นครั้งคราวไม่ใช่ทุกครั้ง สามารถเกิดได้กับคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรค

พฤติกรรมรุนแรงจาก โรคทางจิตเวช
ผู้ป่วยทางจิตเวชบางราย อาจแสดงพฤติกรรมความรุนแรงออกมาได้ในบางกรณี เมื่อมีปัญหาด้านอารมณ์ เช่น อารมณ์หงุดหงิด อารมณ์ซึมเศร้า หากมีอาการมาก ๆ อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงได้ หรือในบางรายมีสาเหตุมาจากการขาดยา แต่โรคจิตเวชก็ไม่ได้ส่งผลให้แสดงพฤติกรรมความรุนแรงเสมอไป

พฤติกรรมรุนแรงจาก โรคทางกาย
การแสดงพฤติกรรมความรุนแรงอาจมีสาเหตุมาจากภาวะทางร่างกาย เช่น ผู้เป็นโรคทางกายบางอย่าง  โรคทางระบบประสาท ลมชักบางชนิด ที่ทำให้มีอาการพฤติกรรมความรุนแรง หรือ ผู้ใช้สารเสพติด ได้รับสารที่ไปกระตุ้นอารมณ์ให้เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อาจทำให้เกิดอาการคล้ายโรคทางจิตเวช เช่น ประสาทหลอน ทำให้มีพฤติกรรมความรุนแรงเกิดขึ้นได้ หรืออาจเกิดจากโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคทางระบบประสาท ลมชักบางชนิด ที่ทำให้มีอาการพฤติกรรมความรุนแรง

การแสดงออกของพฤติกรรมความรุนแรง

  1. การใช้วาจาที่รุนแรง หยาบคาย ด่าทอ เสียดสี รวมถึงการเขียนแสดงความคิดเห็นบนโซเชียลด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เพื่อทำให้อีกฝ่ายเกิดความทุกข์ใจ
  2. การใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญหรือกดดัน ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกกดดันทางจิตใจ
  3. การใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือเกิดอันตรายถึงชีวิต

การรักษาพฤติกรรมความรุนแรง

พฤติกรรมความรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การรักษาจึงต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ก้าวร้าวรุนแรง เพื่อการรักษาให้ตรงกับสาเหตุ ทั้งทางชีวภาพ ทางด้านจิตใจ และทางด้านสังคม จากนั้นประเมินความรุนแรงของอาการ ว่ามีการทำร้ายคนอื่นหรือไม่ บางรายพบว่าพันธุกรรมมีส่วนแต่ไม่เสมอไปหรือบางรายมีความกดดัน ความขัดข้องใจแล้วจัดการไม่เป็น ทำให้แสดงความก้าวร้าว นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายมีการเลียนแบบจากสื่อ 
 
ที่มา : อ. นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล