ส่องเส้นทาง "กรุงเทพ ฯ ปลอดคาร์บอน" ไปถึงไหนแล้ว

20 ม.ค. 2566 | 04:41 น.

ส่องเส้นทาง "กรุงเทพ ฯ ปลอดคาร์บอน" ไปถึงไหนแล้ว หลังสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงสร้างท้าทายในโลกธุรกิจ สังคม เเละคุณภาพชีวิตของทุกคน

สิ่งที่ท้าทายคือ เป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปีค.ศ. 2050 เพราะสภาพอากาศในปัจจุบันสร้างท้าทายใหม่ของโลกธุรกิจ และสังคม คุณภาพชีวิตของทุกคนกำลังถูกบั่นทอนด้วยปัญหาสภาพอากาศสุดขั้วจากสาเหตุ โลกร้อน จนกลายเป็น โลกรวน

 

กรุงเทพฯ เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อย้อนดูแผนแม่บทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2556-2566 พบสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของคนกรุงเทพฯ รวมกันกว่า 43.87 ล้านตันในปี 2556 กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียง 45,000 ตันต่อปี

 

มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนสาธารณะหรือสวนหย่อม แม้ว่าจะมีตัวเลขมากถึง 8,796 แห่ง หรือพื้นที่ราว 25,000 ไร่ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า ประชาชน 1 คน ควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9-15 ตารางเมตร

 

ฐานเศรษฐกิจ จะพามาดูว่า นโยบาย คาร์บอนคุมได้ กทม.ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ไปถึงไหนแล้ว ในเว็บไซต์ chadchart.com ระบุว่า  43.71 ล้านตัน คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กรุงเทพฯ ปล่อยออกมาในปี 2561 เพียงปีเดียว  หากขาดมาตรการจัดการ คาดว่าภายในปี 2573 กรุงเทพฯ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10 ล้านตันต่อปี เท่ากับว่าความเสี่ยงด้านภัยพิบัติธรรมชาติจะตามมาด้วย เช่น มีการคาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ จะได้รับความเสียหายกว่า 16.85 ล้านล้านบาท

 

จากภัยพิบัติน้ำท่วมระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้คุณภาพน้ำประปาลดลง คลื่นความร้อนจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 36 องศาฯ ต้นตอของก๊าซเหล่านี้มาจากกิจกรรมหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาคอาคาร ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ไปจนถึงการจัดการขยะอย่างไม่ถูกหลักสุขาภิบาล

 

กทม.พัฒนาโครงการ กทม.ปลอดคาร์บอน (BMA Net Zero) เพื่อเป็นแบบอย่างการเอาจริงเรื่องโลกร้อนให้กับองค์กรอื่นๆ โดยใช้หลักการคำนวณ ลด ชดเชย (CRO) 

 

คำนวณ (C–Calculate) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทรัพย์สิน กทม.

  - อาคาร เช่น ศาลาว่าการ 2 แห่ง สำนักงานเขต 50 เขต

  - ยานพาหนะ เช่น รถเก็บขยะ รถสังเกตการณ์เทศกิจ รวมถึงรถของผู้บริหาร

 

 ลด (R–Reduce) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

  - ติดตั้งพลังงานทดแทน 

  - ทาหลังคาสีขาวสำหรับอาคารเพื่อช่วยสะท้อนความร้อน

 - ใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน

  - ผลักดันและสนับสนุนเรื่องการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV รวมทั้งปรับโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการเดินทางโดยรถสาธารณะ

 

 ชดเชย (O–Offset) ส่งเสริมโครงการที่เก็บกักหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออยู่ โดย

- เพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือป่าโกงกาง โดยพื้นที่สีเขียว 1 ไร่ ที่มีต้นไม้ประมาณ 200 ต้น สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 3 ตันต่อปี หากสำนักงานเขตแห่งหนึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก 200 ตันต่อปี เท่ากับจะต้องใช้พื้นที่ 67 ไร่ในการช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้น

 

 

 "กรุงเทพ ฯ ปลอดคาร์บอน" ไปถึงไหนแล้ว 

นโยบาย “คาร์บอนคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน” หรือ “BMA Net Zero” ตามวิสัยทัศน์ระยะยาวของแผนแม่บทกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 โดยกรุงเทพมหานครมีความมุ่งหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2573  

 

ล่ามีการประชุมที่สรุปสาระสำคัญได้ว่า จะมีการนำร่อง 3 เขต ดินแดง-บางขุนเทียน-ประเวศ เพื่อขับเคลื่อนโครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ก่อนขยาย 50 เขต  ซึ่ง กทม.ร่วมกับ อบก. จัดการประชุมครั้งแรก ภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการร่วมกันโดย กทม.ได้คัดเลือกสำนักงานเขตนำร่องในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์  

 

ก่อนหน้านั้น กทม.จับมือ JICA และเมืองโยโกฮามา ขับเคลื่อนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจก เปลี่ยนกรุงเทพฯปลอดคาร์บอน ในการประชุม The Bangkok Climate and Energy Action Conference for Net Zero Greenhouse Gas Emission โดยได้รับความร่วมมือจากเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและผู้แทนอาวุโสโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการ "กทม.ปลอดคาร์บอน BMA Net Zero"

 

สำหรับแผนนี้ กทม.จะคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ ใช้มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกโดยผลิตพลังงานทดแทน ใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงทางพลังงาน สนับสนุนให้ใช้รถสาธารณะ เปลี่ยนการใช้รถยนต์เป็นการใช้รถพลังงานรถไฟฟ้า ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่เขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นภายใน 4 ปี โดยปัจจุบันมีผู้ร่วมสนับสนุนแล้ว 1.64 ล้านต้น