จะเป็นอย่างไร หาก “Net Zero” เป็นได้แค่เป้าหมายที่ไปไม่ถึง

27 ธ.ค. 2565 | 02:00 น.

เมื่อ Net Zero คือภารกิจเพื่อลดโลกร้อน แต่จะเป็นอย่างไร หาก Net Zero เป็นเพียงแค่เป้าหมาย แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ?

ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อโลกและชีวิตของผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่รุนแรง หรือสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกประเทศทั่วโลกจึงตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น มาจากการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า รวมไปถึงการกระทำต่างๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เพียงเล็กน้อย อาจส่งผลทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่บนชั้นบรรยากาศได้อยู่ตลอดเวลา 

 

จากการประชุม COP26 เมื่อปี 2564 ผู้นำแต่ละประเทศ ได้มีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยให้ความสำคัญกับการจำกัดอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมไปถึงการประกาศเจตนารมย์ของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 

 

แต่เป้าหมายเหล่านั้นยังต้องอาศัยระยะเวลารวมถึงการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วน แล้วโลกของเราจะเป็นอย่างไรหาก “Net Zero” เป็นได้แค่เป้าหมายที่ไปไม่ถึง ?

 

โลกร้อนขึ้นทุกปี เฉลี่ย 1 องศาเซลเซียส

เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สหภาพยุโรป เปิดเผยข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจที่ได้จากระบบดาวเทียมอียูในโครงการ Copernicus Climate Change Service (C3S) พบว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โลกมีอากาศร้อนที่สุด การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนทั่วโลกก็ยังคงไต่ระดับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ อีกทั้งในปี 2021 ที่ผ่านมานี้ ก็ยังเป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 5 โดยมีอุณหภูมิโลกเฉลี่ย อยู่ที่ 1.1 - 1.2 องศาเซลเซียส

 จะเป็นอย่างไร หาก “Net Zero” เป็นได้แค่เป้าหมาย ที่ไปไม่ถึง

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ 

องค์การสหประชาชาติ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ถ้าหากโลกของเราร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นอันตรายต่อโลกและสิ่งมีชีวิตอย่างพวกเราอย่างไร

  • อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น
    เมื่อก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกสะสมตัวเข้มข้น อุณหภูมิพื้นผิวโลกก็สูงขึ้นด้วย ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ เช่นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นก็จะเผชิญกับวันที่ร้อนขึ้น และลามไปยังระบบนิเวศน์อื่น ๆ

 

  • พายุรุนแรง
    การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกส่งผลต่อปริมาณน้ำฝน อาจทำให้เกิดพายุและภัยพิบัติน้ำท่วมที่รุนแรงและถี่ขึ้น รวมถึงน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้น และสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน

 

  • ภัยแล้งสาหัส
    ในบางประเทศ ฤดูฝนอาจจะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรในภูมิภาคอย่างรุนแรง และอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค

 

  • น้ำแข็งขั้วโลกละลาย
    ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อชุมชนริมทะเลหรือเกาะต่าง ๆ และยังส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมโลกได้

 

  • สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์
    เมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น สิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อความอยู่รอด แต่สัตว์บางชนิดก็ไม่อาจอยู่รอดในสภาพภูมิอากาศ ณ ขณะนั้น เกิดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสิ่งมีชีวิตกว่า 1 ล้านชนิด เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า
     
  • ขาดแคลนอาหาร
    ความร้อน ส่งผลให้เกิดน้ำแล้ง ผู้คนไม่สามารถเาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ได้ รวมถึงมหาสมุทรที่เป็นกรดมากขึ้นสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเล ส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหารที่มาจากการเลี้ยงปศุสัตว์ การเกษตร การประมง พืชผล ทำได้น้อยลง
     
  • ปัญหาสุขภาพ
    การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ทั้งโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ

 

  • ความยากจนและการพลัดถิ่น
    เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้น เช่น อุทกภัย ไฟป่า ได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตของผู้คน ผู้คนต้องอพยพพลัดถิ่น เผชิญกับความยากจน

 

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญมากที่สุด ในตอนนี้ คือ การช่วยเร่งดำเนินแผนในการยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุด ซึ่งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น เป็นแผนดำเนินงานที่หลายธุรกิจตั้งใจที่ผลักดันเป้าหมาย Net Zero ประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้  ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นภารกิจของภาคองค์กรเอกชน เข้ามาดำเนินการภารกิจลดโลกร้อน

 

เช่น บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ประกาศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายประเทศ 10 ปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศถึง 15 ปี รวมไปถึงการยุติการลงทุนในพลังงานถ่านหิน เพื่อไม่ให้เกิดการสร้างก๊าซเรือนกระจกได้อีก

 

ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวของทุกคน สิ่งที่ทำได้ ณ ขณะนี้คือการไม่ดำเนินการใด ๆ ที่จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้อีก ก่อนที่โลกจะกลายเป็น “หายนะทางสภาพภูมิอากาศ” ที่ส่งผลร้ายต่อชีวิตของพวกเราทุกคน