คุณธรรมคนไทยดิ่งเหว น่าห่วง! เด็กไทยคะแนนสุจริตน้อยสุด

07 ก.พ. 2566 | 06:40 น.

เปิดรายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565 พบข้อมูลคุณธรรมคนไทยดิ่งเหว อยู่ระดับ “พอใช้” เท่านั้น น่าห่วงไปกว่านั้น เด็กไทยคะแนนสุจริตน้อยสุด

ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) รายงาน สถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565 ฉบับล่าสุด โดยร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำรวจกลุ่มประชากรไทยวัย 13-60 ปีทั่วประเทศ แบ่งเป็น 3 ช่วงวัย คือ

  • วัยเด็กและเยาวชน อายุ 13-24 ปี
  • วัยทำงาน อายุ 25-40 ปี
  • วัยผู้ใหญ่อายุ 41 ปีขึ้นไป

จากรายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565 สรุปได้ว่า คนไทยทุกช่วงวัยประเมินว่าตนเองมีคุณธรรมครบ 5 ด้าน ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตสาธารณะ และกตัญญู พบว่าอยู่ในระดับ “พอใช้” เท่านั้น โดยคนไทยยังมีความกตัญญูสูง แต่มีความสุจริตในระดับพอใช้ และความพอเพียงในระดับน้อย

 

รายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565

ทั้งนี้ในการสำรวจแบ่งออกเป็นช่วงวัยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

วัยเด็กและเยาวชน 13-24 ปี

ผลการประเมินคุณธรรม 5 ด้าน อยู่ในระดับ “พอใช้” โดยมี 4.66 คะแนน โดยด้านที่น่าห่วงมากที่สุดคือ สุจริต พบว่ามีคะแนนเพียง 4.42 คะแนนเท่านั้น รองลงมาคือ พอเพียง 4.43 คะแนน จิตสาธารณะ 4.55 คะแนน วินัยรับผิดชอบ 4.77 คะแนน และกตัญญู 5.12 คะแนน

 

รายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565

 

วัยทำงาน 25-40 ปี

ผลการประเมินคุณธรรม 5 ด้าน อยู่ในระดับ “พอใช้” โดยมี 4.64 คะแนน โดยด้านที่น่าห่วงมากที่สุดคือ วินัยรับผิดชอบ พบว่ามีคะแนนต่ำสุดเพียง 4 คะแนนเท่านั้น รองลงมาคือ สุจริต 4.24 คะนน พอเพียง 4.43 คะแนน จิตสาธารณะ 4.48 คะแนน และกตัญญู 4.85 คะแนน

 

รายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565

 

วัยผู้ใหญ่ 41 ปีขึ้นไป

ผลการประเมินคุณธรรม 5 ด้าน อยู่ในระดับ “พอใช้” โดยมี 4.62 คะแนน โดยด้านที่น่าห่วงมากที่สุดคือ พอเพียง พบว่ามีคะแนนเพียง 4.25 คะแนนเท่านั้น รองลงมาคือ วินัยรับผิดชอบ 4.59 คะแนน สุจริต 4.6 คะแนน จิตสาธารณะ 4.72 คะแนน และกตัญญู 4.93 คะแนน

 

รายงานสถานการณ์คุณธรรมในสังคมไทยปี 2565

ประเด็นที่ซ่อมด่วน ของแต่ละช่วงวัยทั่วประเทศ พบว่า 

วัยเด็กและเยาวชน 13-24 ปี 

  • ไม่กล้าแจ้งตำรวจเมื่อรู้ว่าเพื่อนทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่เรื่องของตน (สุจริต 3.55)
  • หลีกเลี่ยงเป็นอาสาสมัครของสถานศึกษาหรือชุมชนเพราะไม่เกิดประโยชน์กับตน (จิตสาธารณะ 3.81)

วัยทำงาน อายุ 25-40 ปี

  • ตัดสินใจหรือแก้ปัญหาโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล (พอเพียง 3.46)
  • ยอมลงมือทำแม้จะขัดกับกฎกติกาสังคม เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ (วินัยรับผิดชอบ 2.99)
  • โต้แย้งทันทีเมื่อมีความคิดเห็นต่างจากผู้อื่น (วินัยรับผิดชอบ 3.16)
  • เลือกทำงานกับคนที่ให้ผลประโยชน์กับตน (สุจริต 3.57)
  • ไม่กล้าร้องเรียนเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกลัวผลกระทบ (สุจริต 3.39)

วัยผู้ใหญ่ อายุ 40 ปีขึ้นไป

  • ทุ่มเทเวลาให้กับงานมากกว่าการดูแลตนเองและครอบครัว (พอเพียง 3.12) 
  • ไม่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (พอเพียง 3.74)

 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เปิดเผย ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่า รัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริมคุณธรรมด้านสุจริตในสังคมไทยให้มากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชัน ปี 2565 ในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น

ส่วนข้อเสนอในการสร้างคุณธรรมในสังคมไทย มีดังนี้

  1. นำหลักสุนทรียสนทนา (การสื่อสารพลังบวก) มาใช้กับ บ้าน ชุมชน โรงเรียน และที่ทำงาน
  2. สร้างกลไกทางสังคมที่ทำให้ “คนดีมีพื้นที่ยืน ความดีมีพื้นที่ในสังคม” เช่น ระบบเครดิตสังคม ที่เสริมพลังบวก
  3. รณรงค์สร้างสำนึกจิตสาธารณะที่เกิดจากความสมัครใจ และเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมจิตอาสาตามความสนใจ
  4. รณรงค์ให้หยุดพักการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) เพื่อเสริมสร้างพลังบวก
  5. สนับสนุนให้มีการสำรวจดัชนีชี้วัดคุณธรรมและต้นทุนชีวิตรายจังหวัด แบบปีเว้นปี เพื่อนําข้อมูลไปกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการส่งเสริมคุณธรรมของจังหวัด