คกก. PPP เห็นชอบแนวทางทำ “ข้อตกลงคุณธรรม” โครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน

22 ก.ย. 2565 | 19:00 น.

คณะกรรมการ PPP เห็นชอบออกแนวทางนำ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้กับโครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน โดยเน้นการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน และต้องกำหนดทุกขั้นตอนอย่างละเอียดชัดเจนตลอดระยะเวลาโครงการ ขณะที่ปัจจุบันมีโครงการร่วมทุนฯ ที่ทำข้อตกลงคุณธรรมแล้ว 5 โครงการ

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันพุธที่ 21 กันยายน 2565 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

1. คณะกรรมการ PPP เห็นชอบการออกแนวทางปฏิบัติในการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) มาใช้กับโครงการ PPP ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) โดยมุ่งเน้นการกำหนดให้ผู้สังเกตการณ์ต้องมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายสำหรับการคัดเลือกเอกชนในโครงการร่วมลงทุน ซึ่งจะต้องครอบคลุมไม่น้อยกว่า 3 ด้าน รวมถึงกำหนดรายละเอียดและระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนที่มีความชัดเจน

โดยปัจจุบันมีโครงการ PPP ที่ดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรมตามประกาศ สคร. จำนวน 5 โครงการ ได้แก่

1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

2) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ของกรมการขนส่งทางบก

3) โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

4) โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไปของ กนอ.

5) โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

 

โดยจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการดำเนินโครงการ PPP รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของการร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 รวมทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น

 

2. คณะกรรมการ PPP ยังได้พิจารณาการให้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน - บางบัวทอง ของกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

 

เนื่องจากจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษรอบกรุงเทพมหานครให้ครบสมบูรณ์ สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (2560 - 2579) และเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคม และ ทล. รับไปดำเนินการตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป