ฉีดวัคซีนโควิดเด็กพบผู้ปกครอง 90% สมัครใจรองรับเปิดเทอม

29 ก.ย. 2564 | 01:39 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 เด็กพบผู้ปกครอง 90% สมัครใจรองรับเปิดเทอม หลังไวรัสสายพันธุ์เดลตาติดเด็กมากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
น่าสนใจมาก !! 90 % ของผู้ปกครอง สมัครใจให้บุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อรองรับการเปิดเรียน
จากกรณีที่สถานการณ์โควิดระบาดต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนต่างๆต้องสอนออนไลน์
เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงบ้าง และมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน
นโยบายการเปิดเทอม (On site) ซึ่งจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2564 จึงเกิดขึ้น
ภายใต้นโยบายดังกล่าว มาตรการที่สำคัญคือ การระดมฉีดวัคซีนให้ได้จำนวนมาก ก่อนที่จะเปิดเรียน
โดยมีกำหนดการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปี คือนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักเรียน ปวช. โดยจะเริ่มฉีดในวันที่ 4 ตุลาคม
รายละเอียดเรื่องดังกล่าว ที่เป็นข่าวร้อนแรงมาตลอดช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ ตกลงวัคซีนตัวไหนฉีดได้ แล้วจะมีผลข้างเคียงมากน้อยอย่างไร
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏณขณะนี้
วัคซีนที่ อย.อนุมัติให้ฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป มีสองชนิดคือ  Pfizer และ Moderna

ส่วนวัคซีนของ Sinopharm ได้ยื่นขออนุมัติต่อ อย. ในการฉีดสามขวบขึ้นไป อยู่ในระหว่างกำลังพิจารณา โดยมีราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ฉีด Sinopharm เป็นโครงการวิจัย สำหรับเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไปสำหรับ 132 โรงเรียน 108,000 ราย
ขณะนี้พบตัวเลขที่น่าสนใจมากคือ ผู้ปกครองที่สมัครใจยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีน Pfizer มีจำนวนสูงมากถึง 90%
จากการเก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 21-24 กันยายน และสรุปผลในวันที่ 26 กันยายน
ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจประกอบดังนี้

ผู้ปกครอง 90% ยินยอมให้บุตรหลานฉีดวัคซีนโควิด
ในการระบาดระลอกที่สามตั้งแต่ 1 เมษายน จนถึง 11 กันยายน มีเด็กติดเชื้อทั้งสิ้น 129,165 คน เสียชีวิต 15 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว
โดยสัดส่วนการติดเชื้อ ทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
เมษายน 2426 คน
พฤษภาคม 6432 คน
มิถุนายน 6023 คน
กรกฎาคม 31,377 คน
สิงหาคม 69,628 คน
จะเห็นได้ว่า อัตราการติดเชื้อในเด็กเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเป็นไวรัสสายพันธุ์เดลตา
ส่วนผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน Pfizer ก็พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 12.6 รายต่อ 1 ล้านโดส
โดยเป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง และพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่
ข้อมูลที่มี ทั้งประโยชน์ที่ได้จากวัคซีน และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากวัคซีน
ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต่างจิตต่างใจ ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดดี ก่อนจะเปิดเทอม
แต่ขณะนี้พบว่า ทุกครอบครัวก็ได้แสดงเจตจำนงชัดเจน ผู้ปกครองส่วนใหญ่กว่า 90% พร้อมที่จะให้บุตรหลานฉีดวัคซีน เพื่อที่จะไปโรงเรียน

ส่วนในกลุ่มที่ยังไม่สมัครใจฉีด ทางกระทรวงศึกษาธิการก็มีแนวทางดังนี้
1.ให้เรียนออนไลน์ที่บ้านต่อไปได้
2.ให้มาที่โรงเรียนได้ โดยควรจะได้ตรวจ ATK ว่ามีผลเป็นลบ และจัดจัดการเรียนการสอนแยกให้เป็นพิเศษ
ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า คงจะมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า จำนวนนักเรียนติดเชื้อที่ฉีดวัคซีน และไม่ฉีดวัคซีนมีมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร และผลข้างเคียงที่พบในต่างประเทศจะพบในเด็กไทยมากน้อยอย่างไร
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 28 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 10,414 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,236 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 178 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,562,966 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 122 ราย หายป่วย 11,580 ราย กำลังรักษา 115,423 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,432,360 ราย