ฉีดวัคซีนโควิดไทย 100 ล.เข็มสิ้นปี 64-เตรียมวัคซีนรุ่น 2 กันเดลตากลายพันธุ์

26 ก.ย. 2564 | 06:45 น.

หมอเฉลิมชัยเผยประเทศไทยฉีดวัควีนโควิด-19 ครบ 100 ล้านเข็มภายในสิ้นปี 64 แนะจัดเตรียมวัคซีนรุ่นที่สองมาฉีดในปี 65 ป้องกันการกลายพันธุ์จากเดลตา

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไทยฉีดวัคซีนโควิดวันเดียว 1.28 ล้านเข็ม ยอดสะสมเกือบ 50 ล้านเข็ม คาดปลายปี 2564 จะฉีดครบตามเป้าหมาย 100 ล้านเข็ม
การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรเป็นจำนวนมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่จะควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง และประการสำคัญคือ จะสามารถลดการป่วยหนัก การเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตลงได้
ประเทศไทย ได้เริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และมา
ระดมฉีดกันอย่างเต็มที่เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564
โดยได้มีการกำหนดเป้าหมายเบื้องต้น จะเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านเข็ม สำหรับ 50 ล้านคน เพื่อจะครอบคลุมประชากร 70% ของจำนวน 70 ล้านคน
หลังมิถุนายน 2564 เริ่มเห็นแนวโน้ม การฉีดวัคซีนโควิดเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งมาจากปัจจัยสำคัญสองประการ ได้แก่
1.ปริมาณวัคซีนที่จัดหามาได้
2.ความสามารถในการฉีดต่อวัน
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ทดลองระบบครั้งใหญ่ เพื่อทราบศักยภาพความสามารถในการฉีดวัคซีน
โดยตั้งเป้าหมายจะฉีดให้ถึง 1 ล้านเข็มในวันเดียว เนื่องในโอกาสวันมหิดล ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม บรมราชชนก ซึ่งเป็นพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย และสามารถทำได้ตามเป้าหมาย คือฉีดไปกว่า 1.28 ล้านเข็ม (บางรายงาน มียอด 1.44 ล้านเข็ม)

โดยจำนวนที่ฉีดวัคซีนในวันที่ 24 กันยายน 2564  แยกเป็น
เข็มที่หนึ่ง 8.31 แสนเข็ม
เข็มที่สอง 3.08 แสนเข็ม
เข็มที่สาม 1.48 แสนเข็ม
ยอดสะสมฉีดวัคซีนทั้งหมด 
49.928 ล้านเข็ม แยกเป็น
เข็มที่หนึ่ง 31.279 ล้านเข็ม
เข็มที่สอง 17.580 ล้านเข็ม
เข็มที่สาม 1.068 ล้านเข็ม
โดยตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จะฉีดให้ครบ 100 ล้านเข็ม
จึงยังเหลือวัคซีนที่จะต้องฉีดเพิ่มอีก 50.07 ล้านเข็ม และมีเวลาเหลือที่จะฉีด 97 วัน
เฉลี่ยจะต้องฉีดเพิ่มให้ได้วันละ 5.16 แสนเข็ม

ไทยจะฉีดวัคซีนโควิดครบ 100 ล้านเข็มภายในสิ้นปี 64
จากตัวเลขในเดือนกันยายน ฉีดไปแล้วทั้งสิ้น 17.32 ล้านเข็ม เฉลี่ยฉีดได้วันละ 6.93 แสนเข็ม จึงมีความเป็นไปได้ ที่จะฉีดครบ 100 ล้านเข็มภายในสิ้นปีนี้
และถ้าสามารถฉีดโดยอัตราเฉลี่ยของเดือนกันยายนไปตลอด จะสามารถฉีดได้ถึง 117 ล้านเข็ม ก่อนสิ้นปีนี้
วัคซีนที่ฉีดไปแล้ว เป็นของ 
AstraZeneca   21.86 ล้านเข็ม
Sinovac           19.19 ล้านเข็ม 
Sinopharm       7.47 ล้านเข็ม 
Pfizer                1.39 ล้านเข็ม
โดยแยกฉีดในกลุ่มต่างๆ ดังนี้
อายุน้อยกว่า 60 ปี      27.95 ล้านเข็ม
ผู้สูงอายุ                      9.99 ล้านเข็ม
มีโรคประจำตัว            6.01 ล้านเข็ม
บุคลากรสาธารณสุข    3.60 ล้านเข็ม
บุคลากรด่านหน้า         2.26 ล้านเข็ม
หญิงตั้งครรภ์                0.10 ล้านเข็ม

นับเป็นข่าวดี แสดงถึงความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรของไทย
สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ที่มีไวรัสกลายพันธุ์ และอาจจะมีการพัฒนาไปมากกว่าสายพันธุ์เดลตานั้น
การจัดเตรียมวัคซีนรุ่นที่สองหรือเจนเนอเรชั่นที่สอง ที่จะนำมาฉีดในปี 2565 นั้น นอกจากจะต้องเร่งจัดหาล่วงหน้ามาจากต่างประเทศแล้ว การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรในทุกด้าน ให้กับนักวิจัยไทย ในการผลิตวัคซีนเอง ก็กำลังเป็นไปอย่างเต็มที่ และมีแนวโน้มที่จะสำเร็จทั้งวัคซีนรุ่นที่หนึ่งและรุ่นที่สองในปี 2565
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 26 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 12,353 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,821 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 532 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,532,775 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 125 ราย หายป่วย 14,305 ราย กำลังรักษา 122,463 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,395,481 ราย