หมอธีระวัฒน์ชี้แก้โควิดต้องปรับแนวคิด-วิเคราะห์-นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

28 ก.ย. 2564 | 02:01 น.

หมอธีระวัฒน์ชี้แก้โควิดต้องปรับแนวคิด-วิเคราะห์-นำไปไปใช้ให้เกิดประโยชน์ใช้งบประมาณน้อย ได้ผลมาก สับการบริหารไทยหลายขั้นตอนยุ่งยาก

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
นิวฟิวเจอร์..ไม่ใช่เพียงนิวนอร์มอล
หมอดื้อ
ล่วงเลยมาจนกระทั่งถึงวันนี้และที่เราประสบพบผ่านมาทุกยุคทุกสมัยในประเทศไทย แต่ที่เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งให้คนไทยทุกหมู่เหล่าทุกเพศทุกวัยไม่ว่ายากดีมีจน เห็นตรงกันก็คือในเวลานี้ โควิดสร้างผลกระทบได้เสมอภาค ยกเว้นแต่คนที่ฉวยโอกาส ซ้ำเติมหากำไรบนชีวิตของคนอื่นทั้งหมด
และคนอีกกลุ่มที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการสั่งการ แต่ความที่ห้อมล้อมด้วยบริวารและคนที่พร้อมที่จะโปรยข้อมูลความเห็น ให้ฟังดูสวยหรูและแล้วผลลัพธ์ก็คือเกิดความบิดเบี้ยวในวิถีทางที่ควรจะเป็น และเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก
สภาพเก๋ไก๋ที่เป็นสัญลักษณ์ในประเทศไทย ในการบริหาร คือต้องมีกรรมการมากมายหลายชุด แต่ละชุดมีอนุกรรมการอีกอย่างน้อยสี่กลุ่มห้ากลุ่ม และมีคณะทำงานติดตามผลและประเมินผล และนี่คงนับแต่เฉพาะหน่วยงานเดียว ในเรื่องที่ต้องมีการบูรณาการ (คำศัพท์ท็อปฮิต) ที่ต้องมีการทำงานร่วมกัน แต่ละหน่วยจะมีกรรมการอีกรวมแล้วในเรื่องหนึ่งมีหลายชุดหลายคณะมากมายเต็มไปหมด
อาจจะหลับตานึกถึงภาพได้ว่างานทั้งหลายมีความซ้ำซ้อนและยุ่งยากในการรวบรวม นำมาวิเคราะห์เพื่อออกเป็นข้อที่ควรจะทำมโหฬารขนาดไหน

เวลาที่เราดูคนไข้กัน มีคนไข้ตรงหน้า ที่ต้องมีการปฏิบัติ หรือโนทอล์กมาก แอ็กชันเลย ไม่ใช่โนแอ็กชัน ทอล์กโอนลี่ (no action talk only) ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะมาบรรยายเลกเชอร์หรือถกปัญหากันยืดยาวน้ำท่วมทุ่ง เพราะไม่ได้ดูคนไข้รายเดียว แต่เป็นสิบ
ดังนั้นจึงมีหลักประจำใจคือ ต้องสั้น กระชับแม่นยำ ตรงเป้าและสามารถลำดับความสำคัญได้ หรือดัดจริตเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Concise precise prioritize
Concise ต้องสามารถย่อความ ประวัติความเจ็บป่วยที่เป็นมาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน การดำเนินของโรค สถานะความรุนแรง ณ ปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตมากขึ้นโดยเป็นในระยะเวลาวิกฤติช่วงใดบ้าง เหมือนกับถ้าไม่สามารถแยกประเด็นหัวข้อได้ชัดเจนว่ามีกี่ข้อก็จะพรรณนาซ้ำซากในข้อเดิม ยกตัวอย่างเช่นทำข้อสอบอัตนัยซึ่งตอบคำถามเดียวแต่ต้องสามารถแยกประเด็นที่ตอบสนองต่อคำถามนั้นได้หมดถ้าตอบได้หมดจดหนึ่งในสี่ประเด็นก็คงได้คะแนนไป 25 ในร้อย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ในเรื่องของความแม่นยำ precise ต้องมีความรู้หรือรู้ว่าถ้าจะหาคำตอบจะมีปัญหาอะไรที่ต้องถามและค้นหา และจะหาที่ไหน หาอย่างไรและต้องชัดเจนโดยวางอยู่บนรากฐานที่ดีที่สุดและที่มากที่สุดโดยรวบรวมเนื้อหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือที่เราเรียกว่า totality of evidence ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากการสังเกต จากการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง หรือในมนุษย์ แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนักแต่ได้ผลคล้ายกันหรือเหมือนกันเมื่อทำซ้ำ ทั้งนี้โดยที่วิธีการนั้นๆคุ้มค่าและก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนหรือความเสียหายน้อยที่สุด

และยิ่งถ้าเป็นข้อมูลที่สามารถอธิบายกลไกในขั้นลึก เป็นขั้นเป็นตอน และมีการศึกษาถึงความเป็นเหตุเป็นผลนั้นได้จะเป็นข้อมูลที่หนักแน่นยิ่งขึ้น (mechanistic studies) โดยที่ไม่ได้ยึดโยงกับบทวิเคราะห์ทางสถิติหรือการพิเคราะห์อภิธานอย่างเดียวโดยไม่รู้ที่ไปที่มา
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารู้ว่าโรคนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีปัจจัยอะไรที่ผลักดันให้โรครุนแรงขึ้นและเมื่อมีกระบวนการรักษาหรือมียาชนิดใดก็ตาม และมีคุณสมบัติในการขัดขวางโรคนั้นๆ จะทำให้มีความมั่นใจและสามารถอธิบายกับตัวเองและกับคนไข้ที่อยู่ตรงหน้าได้ว่าทำไมถึงตัดสินใจเลือกการรักษานั้นๆ และเป็นการรักษา หรือเพียงบรรเทา โดยไม่ใช่อ้างแต่ข้อแนะนำในการรักษาตามตำราเหมือนกับมี “หลังพิงฝา”
ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ต้องสนใจเพราะทำตามตำราแล้ว ทั้งๆที่อาจจะขัดกับสภาพที่เห็น ว่าไม่ควรทำเช่นนั้นในสถานการณ์ที่เป็น หรือทั้งๆที่รู้อยู่ว่าไม่ควรทำแต่ตำราว่าไว้เช่นนั้นก็สบายใจ
สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นมากที่ต้องคำนึงคิดวิเคราะห์ตลอดเวลาว่าสิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันดีที่สุดแล้วหรือไม่ เพราะถ้าดีผลที่ออกมาควรจะต้องดีตลอดไม่ใช่หรือ?
ประเด็นถัดมาคือเรื่องการลำดับความสำคัญ (prioritize) สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันมีมากมายมหาศาล เช่น ในการวางแผนดูคนไข้การที่จะสั่งตรวจไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด การตรวจคอมพิวเตอร์เอกซเรย์หรือการตรวจหารายละเอียดขั้นสูง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้นช่วยอะไรกับคนป่วย หรือถ้าทำไปแล้วจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบของการรักษาหรือไม่ (therapeutic benefit) หรือทำไปเพราะความอยากรู้แต่คนไข้ต้องจ่ายเงินหรือเป็นภาระของงบประมาณประเทศ

นิวฟิวเจอร์..ไม่ใช่เพียงนิวนอร์มอล
และประการสำคัญก็คืออะไรที่ควรต้องทำก่อนเพื่อช่วยชีวิตคนป่วยที่เห็นตรงหน้า หรือเปรียบเสมือนว่า ถ้ามีคนป่วยรออยู่หรือนอนอยู่ 20 คนการจัดลำดับความสำคัญคือความรีบด่วนที่ต้องได้รับการรักษาอาจไม่ใช่ว่าใครมาเป็นคนแรกหรือคนที่สอง แต่ต้องดูสิ่งที่เราชอบพูดกันว่า ดู “โหงวเฮ้ง” อาการขณะนั้นอยู่ในสภาวะรีบด่วนต้องได้รับการปฏิบัติโดยด่วน และแม้แต่คนไข้เป็นโรคเดียวกันแต่ความรีบด่วนในแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน เป็นต้น
และอาจจะต่อด้วยอีกประการคือการนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงที (utilize) หลังจากที่รู้ว่าอะไรต้องทำอย่างรวดเร็ว รู้ว่าขาดแคลนอะไร โดยไม่มีทางหาอะไรมาทดแทนได้ในปัจจุบันทันด่วนในเวลานั้น เป็นเวลาที่ต้องหยิบจับฉวยสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถนำมาให้ได้ แม้จะยังไม่ปรากฏเป็นตำราก็ตามแต่ใช้หลักฐานควบรวมเชิงประจักษ์ในทุกด้านดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
ในสถานการณ์ล่มสลายของโควิดไม่ใช่เป็นเวลาที่ต้องประดิดประดอย ฟังข้อมูลวารสารที่ไหลออกมาเป็น 10,000 ชิ้นที่คล้อยตามหรือขัดแย้งกันระเบิดเถิดเทิง หรือจะรอให้มีการสรุปจากองค์กรระดับนานาชาติหรือระดับโลกซึ่งก็มีการกลับลำ 180 องศาอยู่บ่อยเอาง่ายๆ ตั้งแต่ใส่หน้ากากไม่มีประโยชน์ เป็นต้น
ประเทศไทยเราเองมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากร สมุนไพร พืช ผัก ผลไม้ ธัญญาหารพร้อมมูล แม้กระทั่งมีความรู้จารึกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านการวิเคราะห์ทำซ้ำ ลองผิดลองถูกจนกระทั่งสามารถจารึกเป็นข้อแนะนำหรือแทบจะกลายเป็นคัมภีร์ สิ่งเหล่านี้คือการวิจัยซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้ระดับโมเลกุลหรือกลไกทางวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบัน แต่ผลที่ได้เป็นที่ประจักษ์และใช้กันมาเป็น 10 เป็น 100 ปี
คงพอจะนึกออกว่ามีการต่อต้านหรือสนับ-สนุน เช่น การใช้ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กัญชากันชง จนแทบจะฆ่ากันตาย จะให้มีการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติก่อน ค่อยนำมาใช้ แม้ว่าจะรู้สรรพคุณหลายอย่างและสามารถตอบได้ว่าจะใช้ขนาดปริมาณเท่าใด นานเท่าใดและสามารถจะใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันชนิดใดได้หรือไม่
ทั้งนี้ดูต่างจากประเทศจีนหรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็ตามที่มีการขวนขวายหาตัวยาสมุนไพรที่ชาวบ้าน
หรือในชุมชนมีการใช้และทำให้สุขภาพดี อายุยืนไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บและนำมาควบรวมกับแผนปัจจุบันหรือนำมาต่อยอดอธิบายสารออกฤทธิ์ในนั้นว่าเป็นสารเดี่ยวหรือสารผสมแบบใด เป็นต้น หรืออย่างเช่นกัญชาเราก็ทราบกันแล้วว่าตัวสำคัญนั้นไม่ใช่แต่ตัวที่ทำให้เกิดเมาอย่างเดียว แต่ยังต้องควบรวมกับสารฟลาโวนอยด์ และสารอื่นๆด้วยจึงจะเปล่งประสิทธิภาพได้เต็มที่
เขียนมายืดยาวจนกระทั่งถึงบรรทัดนี้ คำว่านิวฟิวเจอร์ คือการปรับกระบวนการคิด การเรียนรู้วิเคราะห์ และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ใช้งบประมาณน้อย ได้ผลมากที่สุด (minimize budget maximize benefit) โดยใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้มาในสมองให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ไม่เช่นนั้นจะใช้ประโยชน์ได้จำกัดมาก อยู่ที่ก้านสมองหรือไขสันหลังแต่เพียงอย่างเดียวและไร้ค่าที่จะแก้ไขวิกฤติอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นทั้งในขณะนี้และที่จะเกิดตามมาในอนาคต
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 28 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 9,489 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,220 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 269 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,552,552 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 129 ราย หายป่วย 12,805 ราย กำลังรักษา 116,711 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,420,480 ราย