เปิดไทม์ไลน์ คอนโดหรู" แอซตัน อโศก "ก่อนศาลปกครองกลางสั่งถอนใบอนุญาต

02 ส.ค. 2564 | 04:25 น.

เปิดไทม์ไลน์ โครงการคอนโดฯหรู แอซตัน อโศก เช่าที่ดินรฟม.เป็นทางเข้าออก ก่อนถูกศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาติก่อสร้างอาคาร

 

สั่นสะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ไปตามๆกันเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนใบอณุญาตก่อสร้างอาคารโครงการ“Ashton Asoke” (แอชตัน อโศก )คอนโดมิเนียมสุดหรูทำเลทองแยกอโศก  ของ  บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ทั้งที่ ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีการโอนกรรมสิทธิ์ ลูกบ้านเข้าอยู่อาศัยเมื่อ2ปีที่ผ่านมา มีจำนวน783หน่วย ลูกบ้าน เข้าอยู่เกือบเต็มโครงการ มีจำนวนหน่วยเหลือขายไม่มาก

เปิดไทม์ไลน์ คอนโดหรู" แอซตัน อโศก "ก่อนศาลปกครองกลางสั่งถอนใบอนุญาต

หลายคนตั้งคำถาม เกิดอะไรขึ้น เหตุใดคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่มีความสูง 50ชั้น มูลค่าสูงกว่6พันล้านบาท ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากกรุงเทพมหานคร ผ่านการอนุญาต การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะการรับรองการใช้เขตทาง13เมตรเชื่อมเข้า-ออก ถนนอโศกของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่อนุญาตให้เช่า ประกอบการขอออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดังกล่าว เมื่อหลายปีก่อน อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมาเป็นโครงการ แอซตันอโศก วันนั้นและถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างในวันนี้ เริ่มจาก

1.ประมาณ 2014 อนันดาเตรียมเปิดโครงการคอนโด แอซตันอโศก (Ashton Asoke) เป็นอาคารสูง 50 ชั้น ที่บริเวณใกล้สี่แยกอโศกบนถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21) ติดกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสุขุมวิท ถือว่าเป็นโครงการทำเลที่ดี ติดทั้งรถไฟฟ้า 2 สาย อยู่ใจกลางเมือง

2. โดยปกติที่ดินสำหรับพัฒนาคอนโดในหลายโครงการจะใช้วิธีรวมที่ดินหลาย แปลงเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อมีพื้นที่พอให้สร้างตึก อย่างของแอซตัน อโศกจะเป็นการรวมที่ดินประมาณ 3 แปลงเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้พื้นที่ขนาด 2 ไร่กว่า แต่ปัญหาคือ ที่ดินแต่ละแปลง บางแปลงติดแค่ซอยเล็กที่เป็นซอยย่อยของซอยสุขุมวิท 19 ที่อยู่ด้านหลังถัดออกไป บางแปลง เป็นที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออก

3. ในเวลาต่อมา  ที่ดินที่ตั้งโครงการแอซตันอโศก เดิม ติดถนนอโศกมนตรี หรือสุขุมวิท 21  เรียกได้ว่าทำเลมากทีเดียวแต่พอมีรถไฟฟ้ามาสร้าง เกิดการเวนคืน ที่ดินแปลงดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วนทำให้ด้านหน้าถูกตัดหายไป กลายเป็นที่ดินไม่ติดถนนในเวลาต่อมา ที่ดินส่วนที่เวนคืน ได้กลายมาเป็นรถไฟฟ้าสถานีสุขุมวิท รวมถีงที่จอดรถด้านบน

4. หลังจากมีการรวมแปลงที่ดิน  ก็ยังมีทางไปออกซอยสุขุมวิท 19  ซึ่งหากสร้างตึก แล้วไปออกซอยสุขุมวิท 19 มองว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรตรงนี้ต้องบอกว่าต้องดูกฎหมายผังเมืองกรุงเทพมหานคร ระบุว่าไม่ใช่ทุกที่ ที่จะสร้างตึกสูงได้หากที่ดินอยู่ในซอยเล็กรถดับเพลิงเข้าถึงไม่ได้สร้างตึกสูงเสี่ยงอันตรายซึ่งตามผังเมืองกำหนดไว้ว่า หากจะสร้างตึกสูงต้องมีที่ดินและบริเวณด้านของแปลงที่ติดถนนใหญ่ต้องกว้าง 12 เมตรขึ้นไป เพื่อที่จะทำทางขนาด 12 เมตรให้รถดับเพลิงเข้ามาที่ตัวอาคารได้ ส่วนถนนใหญ่ที่ว่าเนี่ย ก็ต้องเป็นถนนใหญ่ 18 เมตรขึ้นไป มาถึงตรงนี้ จะเห็นแล้วว่าที่ดินตรงนี้ ถึงจะมีทางเข้าออก แต่ก็ยังสร้างตึกสูงไม่ได้

5.  ปัญหาใหญ่ที่ดินแปลง แอซตันอโศก ที่เดิมทีติดถนนอโศกมนตรี กลับถูกเวนคืนโดยรฟม. เพื่อสร้างรถไฟฟ้าสถานีสุขุมวิทและอาคารจอดรถ  จากเคยเป็นทำเลทองติดถนนใหญ่ใจกลางเมืองอยู่ดีๆ วันดีคืนดีกลายเป็นที่ตาบอด จากจะขายได้ตารางวาละ 2 ล้านบาท กลายเป็นที่ทำอะไรไม่ได้ มูลค่าลดลงทันที ทั้งที่อยู่ติดกับ Terminal 21  ขณะตามข้อเท็จจริง ทางรฟม.ที่เวนคืนที่ดินไป ก็ไม่ได้ใจร้ายขนาดนั้น  ยังมีข้อกำหนดที่บอกไว้ว่า “ที่ดินซึ่งถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของรฟม. อนุญาตให้ผ่านทาง ได้แก่ ที่ดินก่อนถูกเวนคืนติดทางสาธารณะ ภายหลังถูกเวนคืนทำให้ไม่มีทางเข้า-ออก” หรือสรุปก็คือ หากที่ดินถูกกระทบจากการเวนคืนไปแล้วทำให้ที่กลายเป็นที่ตาบอดไม่มีทางเข้าออก สามารถใช้ที่ดินรฟม.เป็นทางเข้าออกได้ อย่างที่ดิน Ashton ก็มีการใช้พื้นที่จอดรถของสถานี เป็นทางสำหรับเข้าออกที่ดินเดิมโดยมีขนาดทางเข้ากว้าง 6.4 เมตร

6. แต่แน่นอนว่า 6.4 เมตรก็ยังไม่พอกับที่กฎหมายกำหนด มาถึงตรงนี้ ทางโครงการ ตัดสินใจเจรจากับรฟม. เพื่อย้ายทางเข้าออกไปอีกฝั่งของลานจอด เพื่อให้ทำทางได้กว้างขึ้น และทำทางกว้าง 13 เมตร เข้าออกจากที่ดินไปถนนอโศกมนตรี เพื่อให้มีพื้นที่ติดถนนใหญ่มากกว่า 12 เมตร แล้วสร้างตึกสูงได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ดินของรฟม.ก็ยังเป็นของรฟม.แต่จะให้สิทธิใช้ในการเป็นทางผ่าน

ทั้งนี้รฟม.ทำเขตทางโดยปกติ จะมีขนาดความกว้าง 4 เมตร แต่หากต้องการ เขตทางมากกว่านี้จะมีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม (มีเขียนอยู่ในกฎชัดเจน) ตรงนี้เข้าใจว่าทางอนันดา ได้จ่ายเงินเพิ่มไปประมาณ 90 กว่าล้านบาท ซึ่งสรุปสุดท้ายก็คือทางรฟม.อนุญาตให้ใช้พื้นที่เป็นทางเข้าออกกว้าง 13 เมตรให้กับโครงการแอซตันอโศก

7.เพื่อความ แน่ใจจะสร้างโครงการใหญ่ ที่ดินที่ใช้ที่ดินรฟม.เป็นทางเข้าออกแบบนี้จะสร้างโครงการได้หรือไม่  ทำให้ โครงการแอซตัน อโศกมีหนังสือสอบถามไปยังกรมโยธาธิการและผังเมืองด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ได้คำตอบมาว่า สามารถทำได้

กล่าวโดยสรุป หนังสือตอบกลับของกรมโยธาธิการและผังเมือง คือ “จากข้อกำหนดที่ต้องมีที่ดินส่วนที่ติดถนนใหญ่ หน้ากว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิง แม้ที่ดินจะไม่ได้อยู่ติดถนนสาธารณะ แต่ถ้ามีที่ดินแปลงอื่นที่ใช้เข้าออก แล้วหน้ากว้าง 12 เมตร และสามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ไปตลอดอายุของอาคาร ก็ถือว่ายังเป็นไปตามกฎกระทรวง”

โดยสรุปสามารถใช้ทางเข้าออกของรฟม. เพื่อเป็นทางเข้าที่ดินสำหรับสร้างตึกสูงได้นั่นเอง แต่ทางต้องอยู่ตลอดอายุตึก

8.หลังจากนั้นในช่วงปลายปี 2014 โครงการก็ได้มีการเปิดขาย เรียกได้ว่าช่วงนั้นคนแย่งกันจองเลยทีเดียว กับคอนโดแบรนด์ระดับท็อปของอนันดาอย่าง Ashton มาในทำเลที่ก็เรียกได้ว่าน่าจะหาไม่ได้อีกแล้ว บวกกับความเท่ของตึกสไตล์อนันดา และแปลนห้องที่โดดเด่นอย่างห้อง 2 ห้องนอนกระจกโค้งรอบทิศของที่นี่ ที่ตอนนั้นใครเห็นก็ต้องถูกใจ  ใครที่จองห้อง 2 ห้องนอนได้ไปก็บวกราคาขายต่อได้กำไรกันเป็นแถว ตัวโครงการก็ SOLD OUT ไปได้ตั้งแต่เปิดขายอย่างไม่ยากเย็น ซึ่งหลังจากนั้น การขอ EIA เพื่อก่อสร้างก็ผ่านตามปกติ โครงการก็ได้เริ่มทำการก่อสร้าง

9. ในช่วงปี 2016 ระหว่างที่ตึกกำลังก่อสร้าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และตัวแทนชุมชนถนนสุขุมวิท 19 แยก 2 ได้ฟ้องกับศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง รวมไปถึงเพิกถอนการที่รฟม.อนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นทางเข้าออกโครงการ โดยยื่นฟ้องหน่วงงานรัฐ 5 แห่ง เพราะมองว่าตึกนี้ขออนุญาตไม่ถูกต้องจากการที่ที่ดินไม่ได้ติดกับถนนใหญ่

10.ผ่านมาถึงช่วงปลายปี 2017 หลังจากผ่านไป 3 ปี ตึกได้สร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อย เริ่มเรียกลูกบ้านที่ซื้อไว้เข้ามาทำการตรวจห้อง แต่ก็เริ่มมีเรื่องแปลกเกิดขึ้น คือทางโครงการไม่สามารถโอนห้องให้กับลูกบ้านได้

เนื่องจากตึกยังไม่ได้มีใบอนุญาตในการเปิดใช้อาคาร หรือ “อ.6” ที่จะต้องได้รับอนุญาตจากทางกทม. ซึ่งทางกทม. ณ ตอนนั้นได้แจ้งว่าเนื่องจากโครงการยังปฏิบัติตามข้อกฏหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่ครบถ้วน รวมไปถึงมีคดีฟ้องร้องอยู่ด้วย จึงต้องรอบคอบรัดกุมก่อนอนุมัติ  แต่ นอกจากเรื่องคดีฟ้องร้องโครงการก็มีหลายจุดที่ต้องปรับ อย่างเช่นพื้นที่สีเขียวในโครงการที่ไม่ได้ตรงตามที่ยื่นขอ EIA ไว้ ทำให้จากสวนหินอ่อนด้านข้างของโครงการ สุดท้ายต้องถูกทุบทิ้ง เพื่อเปลี่ยนมาเป็นปลูกต้นไม้ ให้ได้พื้นที่สีเขียวตามที่กฎหมายกำหนดแทน

11. ล่วงเลยมาจนช่วงเดือนมีนาคม 2018 ผ่านมา 6 เดือนยังไม่สามารถเปิดโอนโครงการได้ ซึ่งเป็นกำหนดเสร็จของโครงการตามในสัญญา จน CEO ของทางอนันดา “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ต้องออกมาทำคลิปขอโทษลูกค้าและมีการประกาศเลื่อนโอนออกไป พร้อมส่วนลด 7.5%/ปี จากจำนวนเงินดาวน์ที่ลูกค้าจ่ายไปแล้ว ส่วนลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนที่ก็สามารถเลือกเป็นโครงการอื่นของอนันดาแทนได้ รวมไปถึงลูกค้าที่ต้องการขอเงินคืน ก็สามารถคืนได้เช่นกัน

12. กระทั่งในเดือนมิถุนายนปี 2018 ทางด้านกทม.ได้เซ็นเอกสาร อ.6 สามารถเปิดใช้งานอาคารเป็นที่เรียบร้อย โครงการก็เริ่มโอนและให้ลูกบ้านเข้าอยู่ ทุกอย่างก็เหมือนจะไม่มีปัญหา หลายคนก็ลืมไปแล้วว่ามีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ที่ยังไม่จบ

13. ในที่สุดวันที่ 30 กรกฎาคม 2021 หลังจากผ่านมา 3 ปี ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้าง เนื่องจากที่ดินไม่มีด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนใหญ่ แล้วทำไมที่ดินถึงไม่มีส่วนติดถนนใหญ่เพราะศาลพิจรณาว่า การที่รฟม.นำที่ดินไปให้โครงการใช้เป็นทางเข้าออก ไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อใช้ในกิจการรถไฟฟ้า แต่เป็นประโยชน์ทางธุรกิจกับของโครงการเอง ซึ่งถึงแม้จะมีการจ่ายเงินค่าใช้ที่ดินก็ตาม

ดังนั้นศาลจึงตัดสินว่ารฟม.ไม่สามารถอนุญาตให้ใช้ที่ดินเป็นทางเข้าออกได้ จึงเท่ากับโครงการก็ไม่มีทางเข้าออกจากจากถนนอโศกมนตรี ก็ไม่สามารถสร้างตึกสูงได้นั่นเอง

14. อนันดาได้ออกมายืนยันในวันเดียวกัน(30 ก.ค.) ว่าทางโครงการได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน

15. สุดท้ายเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะนี่ยังเป็นคำตัดสินของศาลปกครองกลาง โดยทางอนันดาจะใช้สิทธิอุทธรณ์ไปศาลปกครองสูงสุดต่อไป ทำให้คำสั่งศาลปกครองกลางตอนนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด  ดังนั้นถ้าถามว่าต้องทุบไหม คำตอบก็คือยังรอดูศาลต่อไปก่อน

เปิดไทม์ไลน์ คอนโดหรู" แอซตัน อโศก "ก่อนศาลปกครองกลางสั่งถอนใบอนุญาต เปิดไทม์ไลน์ คอนโดหรู" แอซตัน อโศก "ก่อนศาลปกครองกลางสั่งถอนใบอนุญาต

ที่มา:ทีมงานอนันดาฯ