รีวิว Toyota Corolla Cross เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ไร้ CO2 ท่อไอเสียปล่อย ‘นํ้า’

05 พ.ย. 2565 | 04:42 น.

รีวิว Toyota Corolla Cross H2 Concept รถต้นแบบที่ใช้เครื่องยนต์ไฮโดรเจน 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ รถพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อย CO2 และปลายท่อไอเสียปล่อยออกมาเป็นนํ้า

ตามแผนงานของโตโยต้าที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยรถยนต์หลากหลายขุมพลัง และไม่จำกัดเฉพาะ EV เท่านั้น แต่ยังพัฒนารถที่รองรับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งที่เป็นแบบฟิวเซลล์ FCEV (เช่น มิไร) และรถเครื่องยนต์ไฮโดรเจน (Hydrogen Internal Combustion Engine - HICE)สะท้อนผ่านเงินลงทุนรวม 8 ล้านล้านเยน ในช่วงปี 2022-2030

รีวิว Toyota Corolla Cross เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ไร้ CO2 ท่อไอเสียปล่อย ‘นํ้า’

โดยแผนลงทุนดังกล่าว จะแบ่งเป็นโครงการ EV จำนวน 4 ล้านล้านเยน (เงินในจำนวนนี้ ครึ่งหนึ่งจะถูกนำมาพัฒนาแบตเตอรี่) และอีก 4 ล้านล้านเยน แบ่งสันปันส่วนให้รถไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และ FCEV

 

จะเห็นว่าแผนการลงทุน 9 ปีนี้ โตโยต้าได้ให้นํ้าหนักของ EV เท่าๆ กับรถยนต์ไฟฟ้าที่ตนเองพัฒนาอยู่เดิม (โตโยต้าขายรถไฮบริดมากที่สุดในโลก) และไม่ทิ้งรถ FCEV ที่แบกถังไฮโดรเจนเพื่อสร้างพลังงาน ไฟฟ้าขับเคลื่อนรถ

 

ที่สำคัญยังพยายามเพิ่มบทบาทของรถเครื่องยนต์ไฮโดรเจน (ไม่รวมอยู่ในงบลงทุน 8 ล้านล้านเยน) ซึ่งในตอนนี้มีรถต้นแบบ 2 โมเดลที่พัฒนาพร้อมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้ คือคอมแพกต์คาร์ Toyota Corolla H2 Concept ที่ใช้แข่งในรายการเอนดูรานซ์ 24 ชั่วโมง Super Taikyu Serie และเอสยูวี Toyota Corolla Cross H2 Concept

 

ทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์เทพของ Toyota GR Yaris คือเบนซิน 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ แต่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนมาฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้แทน

รีวิว Toyota Corolla Cross เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ไร้ CO2 ท่อไอเสียปล่อย ‘นํ้า’ รีวิว Toyota Corolla Cross เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ไร้ CO2 ท่อไอเสียปล่อย ‘นํ้า’ รีวิว Toyota Corolla Cross เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ไร้ CO2 ท่อไอเสียปล่อย ‘นํ้า’

ล่าสุดผมมีโอกาสได้ลองขับ Toyota Corolla Cross H2 Concept ที่ประเทศญี่ปุ่น ในสนามพรูฟวิ่งกราวด์ Higashi Fuji Technical Center ศูนย์วิจัยพัฒนาของโตโยต้าในจังหวัดชิซูโอกะ

 

แน่นอนว่าการลองขับในศูนย์ R&D มีข้อจำกัดมากมาย (เช่นห้ามพกโทรศัพท์มือถือลงไป เพราะกลัวจะไปถ่ายรูป) และได้ลองขับสั้นๆ ในทางตรงประมาณ 3-4 กิโลเมตรเท่านั้น ที่สำคัญยังเป็นรถต้นแบบทำมาศึกษาเก็บข้อมูล เพื่อพัฒนาต่อไป

แต่การขยับของโตโยต้ากับ HICE ครั้งนี้ ดูจะเป็นการส่งสัญญาณที่จริงจังว่า เตรียมพัฒนารถไฮโดรเจน ขึ้นสู่สายการผลิตจริงแน่นอน

 

Toyota Corolla Cross H2 Concept รูปทรงเป็นโมเดลเดียวกับบ้านเราที่ขายไฮบริด และเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตรครับ แต่เปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ มาใช้เครื่องยนต์ที่ดีที่สุดบล็อกหนึ่งที่โตโยต้ามีในตอนนี้ เพื่อรองรับกับความร้อนและแรงอัดที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซไฮโดรเจนฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้

รีวิว Toyota Corolla Cross เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ไร้ CO2 ท่อไอเสียปล่อย ‘นํ้า’

เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ พลังไฮโดรเจน ที่วางใน Toyota Corolla Cross H2 Concept ปล่อยพละกำลังได้ถึง 300 แรงม้า (ข้อมูลที่โตโยต้าเปิดเผย) ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 สปีด จากการลองขับสั้นๆ สัมผัสได้ถึงความแรง ซึ่งมาพร้อมกับเสียงเครื่องยนต์-เสียงท่อที่ดังดุดัน ราวกับเสียงเรือ หางยาววิ่งในคลองบางกอกน้อย

 

ขณะที่การเปลี่ยนเกียร์สั้นกระฉับ นํ้าหนักคลัตช์กำลังดี เพียงแต่ทุกจังหวะของการสับเกียร์ต้องแลกมากับอาการฉุดดึงแบบหัวทิ่มหน้าหงาย

 

การสู้กับแรงจีด้วยเอสยูวี กำลัง 300 แรงม้า บุคลิกการขับขี่ก็ออกแนวรถสปอร์ตดีๆ นี่ละครับขณะที่ถังไฮโดรเจน 2 ใบวางอยู่ใต้เบาะนั่งด้านหลัง และใต้ที่เก็บสัมภาระด้านท้าย (เติมไฮโดรเจนได้ประมาณ 3 กิโลกรัม) ซึ่งเป็นที่ว่างเท่าที่จะพอหาได้สำหรับเอสยูวีคันนี้

 

ด้านความปลอดภัยกับการมีถังไฮโดรเจนแรงดัน 700 บาร์อยู่ท้ายรถ (ถัง NGV ทั่วไป 200 บาร์) รูปทรงแคปซูล Type 4 (มาตรฐานสูงสุดของถังบรรจุก๊าซ) ที่มีความหนามากๆ โดยแบ่งวัสดุที่นำมาผลิตออกเป็น 3 ชั้น ชั้นแรก(ในสุด)ใช้เรซิน ชั้นที่สองเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ และด้านนอกสุดเป็นไฟเบอร์กลาส

รีวิว Toyota Corolla Cross เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ไร้ CO2 ท่อไอเสียปล่อย ‘นํ้า’

ทั้งนี้ โตโยต้า ยังโชว์ทดสอบการชนด้านท้ายตรงๆ พบว่าโครงสร้างตัวถังรถยนต์ยุบจริง แต่ตัวแคปซูลไฮโดรเจนไม่กระทบกระเทือน เช่นเดียวกับการใช้ปืนไรเฟิลยิงตรงๆ ไปที่ถังไฮโดรเจน เมื่อกระสุนเจาะทะลุเข้าไปและมีก๊าซรั่วออกมา แต่สุดท้ายถังก็ไม่ระเบิด(พยายามไม่ให้เกิดประกายไฟ) รวมถึงเทคนิคในการออกแบบวาล์วเซฟตี้ต่างๆ ซึ่งโตโยต้ามั่นใจว่ารถไฮโดรเจนแบบนี้มีความปลอดภัยสูงไม่ต่างจากรถนํ้ามัน

รีวิว Toyota Corolla Cross เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ไร้ CO2 ท่อไอเสียปล่อย ‘นํ้า’

โตโยต้า มองว่าการใช้ไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน มีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ควบคู่ไปกับการรักษากลไลของอุตสาหกรรม ยานยนต์แบบดั่งเดิม ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทั้งซัพพลายเชน ที่ในญี่ปุ่นเองมีแรงงานอยู่ในระบบนี้ถึง 5.5 ล้านคน

 

ขณะเดียวกัน หากถามหาเรื่องไอเสีย เทคโนโลยี HICE นี้ ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากรถยนต์เลย จะมีเพียง(ไอ)นํ้า และไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ที่ออกมาจากปลายท่อไอเสียเท่านั้น

 

ดังนั้นถ้าต้องการลดการปล่อย CO2 รถเครื่องยนต์ไฮโดรเจน HICE ประสบความสำเร็จเช่นกัน เพียงแต่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเรื่องสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนให้แพร่หลาย (ปัจจุบันญี่ปุ่นมี 170 สถานี) และแหล่งที่มาของไฮโดรเจน ถ้ามาจากกระบวนการที่สะอาดยิ่งตอบโจทย์ของการสร้างสังคมคาร์บอนตํ่าได้อย่างครอบคลุม

 

สำหรับ Toyota Corolla Cross H2 Concept ยังเป็นรถต้นแบบ แต่การพัฒนารถเครื่อง ยนต์ไฮโดรเจนของโตโยต้า เดินหน้าต่อไปแน่ๆ ซึ่งการขายจริงในเชิงพาณิชย์อาจจะพัฒนาเป็นรถโมเดลใหม่ที่สมดุลลงตัวกับโครงสร้างของรถที่ต้องแบกถังไฮโดรเจนอย่างน้อย 2 ใบ และมีระยะทางวิ่งไกลกว่า 400 กม.

 

สำหรับประเทศไทยเตรียมชื่นชมเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนเป็นตัวขับเคลื่อน ทั้ง FCEV รุ่น “มิไร” ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึง Toyota Corolla Cross H2 Concept และ Toyota Corolla H2 Concept ที่จะตามมาอวดโฉมในเดือนธันวาคม นี้

เรื่อง : กรกิต กสิคุณ