‘ของแพง-นํ้ามันพุ่ง’ กดดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ

19 ก.พ. 2565 | 09:55 น.

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เงินเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้น เป็นภาวะชั่วคราว 6-8 เดือน ยันยังไม่กระทบค่าครองชีพ จนกดดันกนง.ขึ้นดอกเบี้ย แม้ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ เหตุมาจากราคาพลังงานและอาหาร แต่สินค้าอื่นยังนิ่ง ต่างจากสหรัฐที่ขึ้นยกแผง

อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังเป็นปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ประกาศอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนมกราคมพบว่า ขยายตัวสูงถึง 7.5% สูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วและแรง  ซึ่งกำลังกดดันต่อการลงทุนของทั่วโลก

‘ของแพง-นํ้ามันพุ่ง’  กดดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไทยล่าสุด จากการรายงานของกระทรวงพาณิชย์พบว่า เงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2565 เร่งตัวขึ้น 3.23% สะท้อนผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาพลังงานและอาหาร ขณะที่่ราคาสินค้าอื่นๆ ยังอยู่ในระดับต่ำ ต่างจากเงินเฟ้อในสหรัฐและประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ของโลกที่ราคาสินค้าสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่ม

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกมาระบุว่า จะมีการทบทวนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพีี) ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปสูงกว่าที่คาดการณ์ได้

 

อย่างไรก็ตาม ธปท.ยืนยันว่า ทั้งปีเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งเป็นกรอบที่ธปท.และกระทรวงการคลังมีการตกลงร่วมกันทุกปี เป็นกรอบที่อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่ผันผวน ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป ทำให้ภาคธุรกิจวางแผนธุรกิจได้เหมาะสมในระยะข้างหน้า

นายอมรเทพ จาวะลาผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน บมจ. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใน 6 เดือนข้างหน้า ของตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยช่วงไตรมาส 1-3 มองไว้ที่ 3.0-3.5% แต่ไตรมาส 4 มีโอกาสต่ำกว่า 2% ดังนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่เห็นเร่งตัวขึ้น ยังเป็นภาวะชั่วคราวประมาณ 6-8 เดือน

นายอมรเทพ จาวะลาผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน บมจ. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

แต่ภาพตลาดเกิดใหม่หลายประเทศเพื่อนบ้านเช่นมาเลเซีย เวียดนาม แม้กระทั่งจีน เงินเฟ้อไม่สูงจนกระทบค่าครองชีพของคนและไม่เป็นแรงกดดันธนาคารกลางต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะเห็นได้จากหลายประเทศ เช่น จีน อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก ขณะที่ไทยอัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ แต่ไม่เป็นปัญหาเสถียรภาพสามารถบริหารจัดการได้

 

สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐ แม้จะปรับขึ้นดอกเบี้ยทะลุ 2.00% เงินเฟ้ออาจจะสูง 7% หรือปรับลงมาอยู่ที่ 5-6% ในครึ่งปีแรก แต่ทั้งปีเฉลี่ย 4% แม้จะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไม่สามารถทำให้ดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวกได้ แค่ติดลบน้อยลง

 

กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สหรัฐ ยุโรป เงินเฟ้อ เร่งตัวขึ้นจากผล Supply Push Demand Pull แต่บ้านมาจาก Demand Pull สาเหตุที่เงินเฟ้อโตแรง มาจากการเดินทาง ค่าอาหารสด ขณะที่สหรัฐปรับขึ้นทั้งค่าเช่าบ้าน รถมือสอง และค่าจ้างเร่งขึ้นค่อนข้างแรง จึงพยายามขึ้นดอกเบี้ย เพื่อชะลอดีมานด์ไม่ให้เงินเฟ้อเร่งตัวอีก

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ แตกต่างบ้านเรา การใช้นโยบายการเงิน เพื่อให้ตอบรับ Supply Push ค่อนข้างยากจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอ ซึ่งธปท.ส่งสัญญาณชัดว่า ต้องการดูการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องราคา จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสกัดดีมานด์” นายอมรเทพกล่าว

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics)กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ 2.5% แต่ระหว่างทางต้นไตรมาสแรก อาจจะเห็นที่ระดับ 4% แต่ยังประเมินยากในแง่ผลสะท้อนความเป็นจริงของประชาชน เพราะปัญหารอบนี้มาจากซัพพลายไซด์ ทั้งราคานำมันโลกและซัพพลายในประเทศ ซึ่งไม่กดดันขึ้นดอกเบี้ย เพราะความห่างระหว่างเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างต่ำ

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี

ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้ปัญหา ประกอบกับระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ยังไม่สามารถปิดช่องว่างก่อนโควิดได้และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ซึ่งดอกเบี้ยนโยบาย จะคงไว้จนกว่า จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจน

 

นอกจากนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว เห็นได้จาก ผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐขยับเป็น 1.96% ส่วนพันธบัตรไทยอยู่ที่ 1.21 จะส่งผลกระทบต่อนักธุรกิจต้นทุนกู้ หรือระดมทุนเพิ่มขึ้น ในเชิงนักลงทุนต้องระวัง NAV ถูกกระทบ ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากทิศทางขาขึ้น แม้จะไม่วิ่งขึ้นตามดอกเบี้ยตลาดที่ปรับขึ้นไปรออยู่แล้ว

 

ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายยังตรึงอยู่ สำหรับสินเชื่อที่จะกระทบกลุ่มสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว แต่ถ้าธปท.ตรึงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่ปรับดอกเบี้ยในระบบ เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าอยู่ได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า เงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาของทั่วโลก จึงมีความจำกัดในการแก้ไขปัญหา สิ่งที่จะทำได้คือ การหามาตรการระยะสั้นช่วยประคองรายจ่าย แต่ยากที่จะตอบในแง่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,759 วันที่ 20 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565