สศช.เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย ปี 2565

19 ก.พ. 2565 | 08:08 น.

เลขาธิการ สศช. เปิดแนวโน้มเศรษฐกิจไทย เชื่อมีทิศทางเป็นบวกมากขึ้นในปีนี้ แต่ก็ยังมี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้าง ต้องติดตามที่นี่

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ณ ปัจจุบันประเทศไทย ยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มายาวนานกว่า 2 ปีเต็ม ส่งผลไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การทำมาค้าขาย และการจับจ่ายของผู้บริโภค ที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ 

 

แม้ตอนนี้รัฐบาลจะพยายามประคับประคอง รวมถึงหามาตรการมากมายออกมาดูแลเศรษฐกิจให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปให้ได้ แต่ทั้งหมดก็ถือเป็นความท้าทาย และวัดฝีมือการทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการกำหนดนโยบายอย่างยิ่ง

 

หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ดูแลเรื่องนี้ ก็คือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ซึ่งหลาย ๆ คน รู้จักกันในชื่อของ “สภาพัฒน์” หน่วยงานที่มีบทบาททั้งกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ รวมทั้งให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย

“ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะมีโอกาสฟื้นตัวได้มากแค่ไหน และมีปัจจัยอะไรที่ยังน่ากังวล หลังจาก สศช. เคยประเมินตัวเลขจีดีพีของไทยเอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงระหว่าง 3.5 – 4.5% ได้หรือไม่

 

เลขาฯ สศช. ยอมรับว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาต่อเนื่อง เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวเริ่มสตาร์แล้ว ซึ่งเท่าที่ดูแนวโน้มเครื่องชี้เศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นมา แต่ตัวเลขทั้งหมด สศช. จะมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 21 ก.พ.นี้”

 

“ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แต่เท่าที่ดูในเบื้องต้น ประเมินว่า กิจกรรมหลายอย่างทางเศรษฐกิจเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น เช่นเดียวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แม้ว่าในช่วงปลายปีจะมีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด สายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความตกใจพอสมควร แต่ยังมีเรื่องที่ดีเกิดขึ้น คือ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ แม้จมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอาการรุนแรงเหมือนตอนเจอสายพันธุ์เดลต้าเหมือนเมื่อช่วงกลางปีก่อน  

 

“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มค่อย ๆ พิคอัพอย่างช้า ๆ ประกอบกับการมีมาตรการกระตุ้นบริโภคออกไปด้วย รวมถึงการส่งออกก็ยังดีอยุ่ ภาคการผลิตอยู่ในระดับดี มีแค่การท่องเที่ยวเพิ่งเริ่มฟื้นกลับมาได้บ้าง หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิดรุนแรงจนต้องมีมาตรการออกมาทำให้เกิดขึ้นจำกัดทางเศรษฐกิจขึ้น แนวโน้มก็น่าจะดีเรื่อย ๆ” เลขาฯ สศช. ระบุ

 

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง สศช. มีข้อห่วงใยที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจด้วยกัน 4 ข้อ ดังนี้

 

1. ภาวะหนี้ครัวเรือน 

 

มองว่า แม้มูลค่าหนี้จะเพิ่มไตรมาสต่อไตรมาสไม่สูง ประมาณ 1% แต่เป็นห่วงเรื่องของคุณภาพหนี้ ซึ่งปัจจุบันเห็นหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคเริ่มมีปัญหา จากสถานการณ์โควิดที่ระยาดยาวนาน

 

ดังนั้นจึงอาจต้องหามาตรการใหม่เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากมาตรการเดิมที่เคยออกมาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ชั้นดีให้ลดภาระการผ่อนชำระลง แต่ไม่ใช่รูปแบบของการพักชำระหนี้ เพราะอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้ลูกหนี้ดีไม่ชำระหนี้ตามปกติ (Moral Hazard) ขึ้น 

 

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือ สศช. จะหารือกับ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อร่วมกันสรุปมาตรการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ เพื่อดูแลแบ่งเบาภาระในการผ่อนชำระหนี้ และนำเงินไปใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในระยะสั้นก่อน  

 

2. ปัญหาเงินเฟ้อ

 

เห็นว่า กรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนตอนนี้ โดยปัญหาเกิดจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศสูงขึ้น ซึ่งก็เป้นไปในลักษณะเดียวกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่เจอภาวะนี้เช่นเดียวกัน ส่วนในการดูแลเรื่องนี้ เชื่อว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องหาวิธีทำให้ภาวะเงินเฟ้อผ่อนคลายลงมาบ้าง โดยจำเป็นต้องใช้กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เต็มที่

 

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

3. ปัญหาจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)

 

เห็นว่า ปัญหานี้แม้จะเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เพราะเป้นปัญหาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ก็เป้นปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลเช่นกันเพราะจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยได้ โดยเฉพาะกรณีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หรือสถานการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครน ดังนั้นทุก ๆ หน่วยงานจึงต้องจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

 

4.สถานการณ์โควิด

 

เห็นว่า ยังเป็นสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าโควิดโอมิครอน จะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่ก็ยังไม่น่านิ่งนอนใจได้หากต้องเจอกับสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการดูแลสถานการณ์คงต้องทำควบคู่กันไปกับการบริหารเงินที่เหลืออยู่ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันเงินก้อนนี้เหลืออยู่ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท

 

ดังนั้นในช่วงต่อจากนี้ไป การใช้จ่ายเงินคงต้องระมัดระวัง และใช้ในโครงการที่จำเป็นในการฟื้นเศรษฐกิจ อีกส่วนหนึ่งก็คงต้องกันเอาไว้เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย

 

ส่วนวงเงินที่เหลืออยู่จะเพียงพอหรือไม่นั้น ยอมรับว่า "เพียงพอ" และยังไม่มีความจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน ก้อนใหม่ในเวลานี้ ขณะที่มาตรการทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในระยะสั้นด้วยมาตรการที่มีอยู่ตอนนี้ยังคงช่วยดูแลเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพไปได้

 

นอกจากนี้ในระยะต่อไป คงเน้นไปที่การฟื้นฟูเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนด้วยการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้ามาย ควบคู่การลงทุนของหน่วยงานรัฐและการลงุทนรัฐวิสาหกิจ เพื่อช่วยให้ช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ต่อไป