การแก้ปัญหา เศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ของรัฐบาลประยุทธ์

19 ก.พ. 2565 | 00:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงชี้แจงในวาระการอภิปรายทั่วไปของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ลงมติ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกประเทศเผชิญปัญหาร่วมกัน แต่ 6 เดือนแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยพลิกกับเป็นบวกได้ 1.3% เกินกว่าความคาดหมาย
 

รัฐบาลได้แก้ปัญหา ลดจำนวนลูกหนี้ที่ต้องการขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจาก 12.5 ล้านบัญชี เหลือต่ำกว่า 6 ล้านบัญชี มีการจ้างงานมากขึ้น จำนวนผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ของปี พ.ศ.2564 นักศึกษาจบใหม่ ปี พ.ศ.2563 - 2564 ทำงานในภาคเอกชนกว่า 66.78% ทำงานในภาครัฐ 20% 
 

ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว มีการเปิดกิจการใหม่ในปี พ.ศ. 2564 มากกว่าบริษัทที่ปิดกิจการกว่า 4 เท่าตัว ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงขึ้นกว่า 600,000 ล้านบาท
 

อย่างไรก็ดี ในปีนี้ไทยเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ ที่เกิดจากความต้องการที่มากขึ้น จากการฟื้นตัวของโลก ราคาพลังงานแพงขึ้น ซึ่งรัฐบาลพยายามดูแลราคาปัจจัยการผลิต ที่มีผลกับราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค มีการเตรียมการอย่างเป็นระบบและการสั่งการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด รวมทั้งการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2565 เร่งตัวขึ้น 3.23% จากการปรับขึ้นราคาพลังงานและอาหาร และมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการทบทวนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปสูงกว่าที่คาดการณ์ได้
 

อัตราเงินเฟ้อของไทยแตกต่างจากปัจจัยเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ราคาเพิ่มขึ้นในทุกหมวดการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมิอาจใช้แนวทางเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยใช้วิธีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศมีกำลังซื้อที่อ่อนแอ การฟื้นตัวเศรษฐกิจเปราะบาง ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น
 

นอกจากไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลควรพิจารณาแนวทางให้คนเล็กคนน้อย เอสเอ็มอี ได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กลุ่มที่ขาดโอกาสเหล่านี้ได้มีเงินทุนกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจได้โดยเร็ว