เปิดแนวโน้มการเงินไทย กับ 3 ความเสี่ยงโลกยุคใหม่ที่ควรรู้

02 ก.พ. 2565 | 09:24 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดทิศทาง และแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย ติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจและภาคการเงินไทยในระยะข้างหน้าว่ามีอะไรบ้าง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยการจัดทำทิศทางสำคัญ และแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย โดยระบุถึงจำเป็นของการวางแผนในการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินในระยะต่อไป ที่ต้องมีความสมดุลระหว่างการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น 

 

เพื่อเอื้อให้ภาคการเงินปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วได้ทัน และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจโดยรวมให้ทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตามรายงานระบุถึง 3 ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจและภาคการเงินไทยในระยะข้างหน้า ดังนี้

 

1.โลกดิจิทัลไร้พรมแดน

 

ระบบเศรษฐกิจและภาคการเงินไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัลที่ไม่มีพรมแดน สะท้อนจากการใช้ระบบพร้อมเพย์ที่เติบโตถึง 4 เท่า และมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มหน้าไม่เพิ่มขึ้น 9 ล้านคนในช่วงปี 2563-2564 เปิดโอกาสให้มีผู้ให้บริการทั้งในและนอกภาคการเงินเข้ามาแข่งขันและพัฒนาบริการทางการเงินโดยอาศัยเครือข่ายเทคโนโลยี ข้อมูล และช่องทางดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ และเข้าถึงลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ เช่น blockchain ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงและใช้บริการต่าง ๆ ได้สะดวกโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง

 

การนำเทคโนโลยีมาใช้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การโจรกรรมข้อมูลและภัยไซเบอร์ในหลายรูปแบบ หรือความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น ภาคการเงินจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ข้อมูล และช่องทางดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงรูปแบบใหม่ได้อย่างเท่าทันด้วย

2.กระแสความยั่งยืน

 

การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมเริ่มส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรวดเร็ว โดยองค์การสหประชาชาติ คาดว่า โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสในแหไม่ถึง 20 ปี ซึ่งจะนำไปสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุดจากภาวะโลกร้อน ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่เผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุดจากภาวะโลกร้อน 

 

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยโดยส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงมีความเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น นโยบาย Carbon Border Adjustment Mechanism ของสหภาพยุโรป 

 

ดังนั้น ภาคการเงินจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้พร้อมรองรับโอกาสและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมทั้งควรมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวและลดกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง

 

3.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังมีสูง โดยเอสเอ็มอี มากกว่า 60% ไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ  เนื่องจากไม่มีข้อมูลในระบบหรือมีประวัติทางการเงินไม่มากพอ (information asymmetry) จึงเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ต้องหาหลักประกันหรือการค้ำประกันเพิ่มเติม หรือต้องหาแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่น เช่น ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือการร่วมทุน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ และผู้มีภาระหนี้สูงส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย

 

นอกจากนี้ วิกฤตโควิด 19 ยังซ้ำเติมปัญหาฐานะทางการเงินของเอสเอ็มอี และครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้น้อย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวเร่งให้มีการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ยังมีประชาชนและธุรกิจไทยที่ยังนิยมชำระเงินด้วยเงินสดและเช็ค และใช้บริการผ่านสาขาหรือตู้ ATM เป็นหลัก 

 

ดังนั้น แม้การนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเงินจะช่วยให้ผู้ใช้บริการที่พร้อมเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น แต่จำเป็นต้องดูแล SMEs และครัวเรือนกลุ่มที่ยังมีความเปราะบางทางการเงินให้เข้าถึงบริการทางการเงินในระบบอย่างเหมาะสม และช่วยให้ภาคครัวเรือนสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ทั้งในแง่การลดการก่อหนี้เกินตัวและการจัดการกับภาระหนี้สินที่ล้นพ้นตัว รวมทั้งดูแลกลุ่มที่ยังไม่พร้อมใช้เทคโนโลยีให้สามารถปรับตัว เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปกว่าเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ธปท. ในขณะนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับปรุงทิศทางและแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย รวมทั้งกำหนดแนวนโยบายในรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งส่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมายัง ธปท. ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 ก.พ.2565 ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย 

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย