ธปท.จับตา 4ปัจจัยเหตุพบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนม.ค.ชะลอตัว

31 ม.ค. 2565 | 12:37 น.

ธปท.แนะจับตา 4ปัจจัย “กำลังซื้อ โอกาสกลายพันธุ์ของโควิด ปัญหาซัพพลายดิสรัปชั่น-อัตราเงินเฟ้อ” เหตุพบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนม.ค.ชะลอตัว

ธปท.เผยเศรษฐกิจเดือนธ.ค.ฟื้นตัวทุกหมวด อานิสงค์เปิดรับนักท่องเที่ยว ส่งออก การลงทุนโตต่อเนื่อง -ตลาดแรงงานยังเปราะบาง ระบุเดือนม.ค.65 เห็นสัญญาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว -แนะจับตา 4ปัจจัย “กำลังซื้อ  โอกาสกลายพันธุ์ของโควิด  ปัญหาซัพพลายดิสรัปชั่น-อัตราเงินเฟ้อ”

 

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม 2564 ฟื้นตัวทุกหมวด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายและการเปิดประเทศ สอดคล้องกับไตรมาสที่ 4 ที่มีการฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ตามอุปสงค์ต่างประเทศและปัญหาการแคลนขาดวัตถุดิบเริ่มคลี่คลาย

 

เห็นได้จากภาพรวมเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจในเดือนธ.ค.64 ปรับดีขึ้นทุกหมวด โดยการบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวดีขึ้น ภายหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการภาครัฐ เช่น คนละครึ่ง เฟส 3 หรือเราเที่ยวด้วยกันเป็นปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่าย

ทั้งนี้ การบริโภคเอกชนเดือนธ.ค.ขยายตัว 2.3% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 1.4% และหากเทียบทั้งไตรมาสที่ 4 ขยายตัวสูงถึง 8.2% จากไตรมาสก่อนหดตัว -3.2% แต่ในส่วนของรถยนต์นั่งยังชะลอลง

ด้านตลาดแรงงานเดือนม.ค.ยังสะท้อนความเปราะบาง แม้ผลสำรวจผู้ประกอบการอิสระมีมุมมองและบรรยากาศที่เป็นบวก  สัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานจากประกันสังคมลดลง  แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19

 

สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ฟื้นตัว โดยเดือนธ.ค.การลงทุนขยายตัว 1.7% สูงขึ้นจาก 0.9% เดือนก่อนหน้า   หากเทียบไตรมาสที่ 4 ขยายตัวยอยู่ที่ 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้าหดตัว -2.1%

 

สอดคล้องกับภาคผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้นตามอุปสงค์และปัญหาอุปทานหยุดชะงัก ที่คลี่คลาย โดยขยายตัว 2.6% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 1.2% และหากดูไตรมาสที่ 4 ขยายตัวสูงถึง 8.2% จากไตรมาสก่อนหน้าหดตัว -6.0% เป็นผลมาจากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยหมวดที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เคมีภัณฑ์ และอาหาร-เครื่องดื่มตามผลผลิตน้ำตาลที่ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตถูกปลดล็อคได้มาก จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับดีขึ้น ส่งผลให้ภาคการส่งออกปรับตัวดีขึ้น  มูลค่าเร่งตัวสูงขึ้น 5.2% จาก 3.0%เดือนก่อน   และไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 5.6% จากไตรมาส 3 หดตัว -1.8%

 

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐไม่รวมเงินโอนหดตัว -8.4%จากระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ -0.4% สาเหตุจากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนเมื่อเดือนต.ค. และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว -1.0%

         

สำหรับภาคต่างประเทศนั้น  จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งตัวขึ้นหลังเปิดประเทศ โดย มีนักท่องเที่ยว 2.3แสนคนเดือนธ.ค.โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรป คาดว่าทั้งปีปี 64 จะมีนักท่องเที่ยวราว 4.28 แสนคน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลอยู่ที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ จากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง แม้ว่าการส่งออกจะเร่งตัวสูงขึ้น แต่การนำเข้าเพิ่มสูงกว่าจากการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนยังขาดดุล

ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนเดือนธ.ค.เฉลี่ยอ่อนค่าจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และ ณวันที่ 26ม.ค.65 เงินบาทกลับมาแข็งค่า หลังจากเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก

          ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนธ.ค.อยู่ที่ 2.17% จาก 2.71%เดือนก่อนหน้าตามราคาพลังงานที่ปรับลดลง   แต่ราคาอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อหมู ส่งผลให้ต้นทุนการดูแลเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0.29%               

ธปท.จับตา 4ปัจจัยเหตุพบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือนม.ค.ชะลอตัว

นางสาวชญาวดี  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเดือนม.ค.65  เห็นสัญญาณกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง เนื่องจากผลการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนช่วงปลายเดือนธ.ค.ปี64 เห็นได้จากกิจกรรมภาคลริการและการค้ามีแนวโน้มลดลง  

 

ส่วนภาคการผลิตและอสังหาริมทรัพย์ทรงตัว แต่ยังมีความกังวลของผู้ประกอบการ ซึ่งมีประเด็นที่ต้องติดตามทั้งกำลังซื้อ  แนวโน้มการระบาดของโควิดว่าจะมีการกลายพันธุ์หรือไม่  ปัญหาซัพพลายดิสรัปชั่นและอัตราเงินเฟ้อ