หนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด Q2/64 โต 5% ติด TOP 5 ของเอเชีย

22 พ.ย. 2564 | 05:11 น.

สศช. เผยหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 5% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ชี้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงเป็นอันดับ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ห่วงหนี้เสียบัตรเครดิตและหนี้นอกระบบพุ่ง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/64 พบว่า หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 5% ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน หรือมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ลดลงจาก 90.6% ในไตรมาสก่อน

 

อย่างไรก็ตามหนี้สินครัวเรือนไทยต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสวิด-19 และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น พบว่า ไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่อันดับ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย

 

สำหรับหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/64 เป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้สินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ อุปโภคบริภคส่วนบุคคล และประกอบธุรกิจ โดยสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 6% เป็นการขยายตัวของสินเชื่อใหม่ในกลุ่มมูลค่าบ้านราคาสูงกว่า  5 ล้านบาท และมูลค่าสูงกว่า 9 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 24% ต่อไตรมาส นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 63 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขยายตัว 6.3% ชะลอลงจาก 6.5% ในไตรมาสที่ผ่านมา จากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัด ประกอบกับครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่กลับมารุนแรงมากขึ้น และหนี้สินเพื่อการประกอบธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 7.6% จาก 6% ในไตรมาสก่อนหน้า สินเชื่อยานยนต์อยู่ที่ 2.7% ชะลอตัวจาก 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการหดตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์

ทั้งนี้แนวโน้มหนี้สินครัวเรือน แม้สัดส่วนต่อ GDP จะลดลงจากไตรมาสก่อน แต่หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัย เศรษฐกิจยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 64 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนรายไดครัวเรือนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งยังกระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ และผลกระทบของอุทกภัยที่ทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1. หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหากลูกหนี้ผิดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมือเทียบกับหนี้ประเภทอื่น 2.การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ จากปัจจุบันที่เหนี้เสียในภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้

 

และ 3.การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่ามูลค่าหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562 โดยมีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้การมีหนี้เสียและการก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันครัวเรือนกลุ่มหนึ่งขากสภาพคล่องอย่างรุนแรง เนื่องจากการขาดแคลนรายได้