รัฐ-เอกชนจัดทัพกู้วิกฤติ ศก. ยืมมือบิ๊กธุรกิจหาวัคซีน สศช.รับ 4 ข้อช่วย SME

23 ก.ค. 2564 | 06:28 น.

จัดทัพรัฐ-เอกชนลุยกู้เศรษฐกิจสู้โควิด นายกฯรับ 4 เรื่องเร่งด่วนจาก 40 ซีอีโอ สั่ง “สุพัฒนพงษ์” เป็นแม่ทัพลุยต่อ พร้อมดึง 3-4 บิ๊กเอกชนที่มีคอนเน็กชั่นช่วยหาวัคซีน สศช. รับลูก 4 ข้อเสนอของ ส.อ.ท.ช่วยต่อลมหายใจเอสเอ็มอี สมาพันธ์ฯเผยหนี้เฝ้าระวังพุ่ง 3 แสนล้าน

 

ในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรี กับ 40 ซีอีโอ และหอการค้าไทย ผ่านระบบ Video Conference เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับข้อเสนอแนวทางใน 4 เรื่องเร่งด่วน จากภาคเอกชนไปดำเนินการ ได้แก่ การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฟื้นฟูประเทศไทย

 

รัฐ-เอกชนร่วมใจกู้ ศก.

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อเสนอของ 40 ซีอีโอ นายกรัฐมนตรีได้รับฟัง และกล่าวว่าได้จดในรายละเอียดมากกว่า 10 หน้า และบอกว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐบาลมาก

 

ล่าสุดในเวทีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(ศบศ.) วันที่ 22 ก.ค. 2564 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พลเอกประยุทธ์ได้หยิบยกข้อเสนอทั้ง 4 เรื่องเร่งด่วนข้างต้น มาอ่านในรายละเอียดให้ที่ประชุมฟัง

 

นายกรัฐมนตรีแจ้งว่า เรื่องที่เอกชนเสนอมา หากเรื่องใด รัฐบาลทำได้ก็จะรับไปทำเลย ส่วนเรื่องใดที่ยังติดเงื่อนไขต่าง ๆ บางส่วน ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะทำงานรับไปดำเนินการ โดยประสานการทำงานร่วมกับภาคเอกชนตั้งแต่วันนี้ (22 ก.ค.) เป็นต้นไป

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

เบื้องต้นมี 2 ส่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ 1. เรื่องที่นักธุรกิจที่มีเครือข่ายหรือมีสายสัมพันธ์พิเศษในการช่วยหาวัคซีนเพิ่มเติมซึ่งในส่วนของภาคเอกชนมี 3-4 รายที่มีคอนเน็กชั่นก็จะช่วยเจรจาซึ่งหากได้ข้อสรุปก็จะประสานกับรัฐบาลเพื่อจัดซื้อเพิ่มเติมทันทีทั้งนี้เพื่อฉีดให้ได้ตามเป้า 100 ล้านโดสในปีนี้

 

เรื่องที่ 2 คือ การจัดตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน และให้มีเจ้าภาพ เพื่อแสวงหาโอกาสที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพสูง การศึกษายุคใหม่ และ Food for future โดยนายกฯได้มอบหมายให้ไปหารือกันต่อไป

 

“เรื่องที่เข้า ศบศ.วันนี้หลายเรื่องก็โอเคไปแล้ว ที่นำเสนอวันนี้ท่านนายกฯก็บอกว่ามีหลายเรื่องที่ทำได้ ในส่วนของแรงงานภาคอุตสาหกรรมรองนายกฯจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ ก็ได้เน้นยํ้าในที่ประชุมว่าตัวจักรกลสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือภาคการส่งออกอยากให้ดูแลเรื่องวัคซีนเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะชวนคนเข้ามาลงทุนที่ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคท่านก็ให้ศึกษาเลย ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาล ท่านบอกว่าได้เร่ง รัดอยู่แล้ว และเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนเสนอมา ก็ยินดีทำงานร่วมกับภาคเอกชน”

 

รัฐ-เอกชนจัดทัพกู้วิกฤติ ศก. ยืมมือบิ๊กธุรกิจหาวัคซีน  สศช.รับ 4 ข้อช่วย SME

 

ให้หยุดคิดดอกเบี้ย SME

 ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการประชุม ศบศ. (22 ก.ค. 64) ส.อ.ท. ได้นำเสนอเรื่องเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ใน 4 ข้อ คือ 1.ให้พิจารณาเพิ่มสัดส่วนการคํ้าประกันความเสีย หายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 2. พิจารณาแยกสถานะผู้ประกอบการที่เข้าเกณฑ์ NPL เนื่องจากโควิด ให้ต่างจากสถานะลูกหนี้ NPL ทั่วไป

 

3. ขอให้สถาบันการเงิน “หยุดคิดดอกเบี้ย” สำหรับกิจการที่ถูกสั่งปิดจากมาตรการโควิดของภาครัฐเป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับเอสเอ็มอี ยอดกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท และ 4 ขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลเอสเอ็มอี 3 ปี สำหรับผู้ที่จัดทำบัญชีเดียวและเข้าระบบภาษี E-Tax

 

 “ทั้ง 4 เรื่องเราได้นำเสนอในที่ประชุม ศบศ.ซึ่งสภาพัฒน์ได้รับไปประสานกับกระทรวงการคลังต่อไป”

 

สุพันธุ์  มงคลสุธี

 

ชง 6 มาตรการต่อชีวิต

สอดคล้องกับนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่กล่าวว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า สถานการณ์สินเชื่อ SME ไทย Q1/2564 มีสินเชื่อทั้ง หมด 3.3 ล้านล้านบาท ในระบบสถาบันการเงินจัดเป็นชั้นปกติ (ไฟเขียว) 2.6 ล้านล้านบาท ชั้นกล่าวถึงพิเศษ (ไฟเหลือง) 4.3 แสนล้านบาท NPL (ไฟแดง) 2.4 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อน COVID-19 ธันวาคม 2562 จะพบว่า มีสินเชื่อ SME ทั้งหมด 5 ล้านล้านบาท จัดเป็นชั้นปกติ (ไฟเขียว) 4.6 ล้านล้านบาทชั้นกล่าวถึงพิเศษ (ไฟเหลือง) 1.7 แสนล้านบาท NPL (ไฟแดง) 2.3 แสนล้านบาท สังเกตได้ว่ามูลค่าสินเชื่อSME ลดลง ขณะที่หนี้ชั้นไฟเหลืองเฝ้าระวัง เพิ่มขึ้นสูงถึงกว่า 3 แสนล้านบาท

 

 ทั้งนี้สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยและภาคีพันธมิตรเครือข่าย ทั้ง 24 องค์กรได้นำเสนอมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลได้แก่ 1.มาตรการพักต้น พักดอก ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น สําหรับกลุ่มลูกหนี้ mSMEs เดิม ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ให้เป็นหนี้เสีย หรือ NPLs การยืดระยะเวลาการชําระออกไป

 

2.มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยกลุ่ม mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชําระดีไม่เป็นNPLs มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีสูงกว่า 5% ให้ลดลงมาคงที่ในอัตรา 4% โดยรัฐบาลช่วย อุดหนุนอัตราดอกเบี้ยส่วนที่ลดให้กับลูกหนี้เดิมแก่สถาบันการเงิน 1% เป็นระยะเวลา 2 ปีส่วนกลุ่ม mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่กับแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ( Non Bank ) เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชําระดีไม่เป็น NPLs มีอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สูงมาก จึงขอเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการลดลงมากึ่งหนึ่ง จนครบอายุสัญญา

 

3.มาตรการสินเชื่อ Soft Loan สําหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท พิจารณากําหนดวงเงินให้กู้จากกระแสเงินสดสุทธิ์จากบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่นํางบการเงิน มาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้ สินเชื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี สืบเนื่องจากผู้ประกอบการ mSMEs มักจะใช้การหมุนเวียนเงินจากเงินสดในมือและ เงินฝากธนาคารเป็นหลักในการดําเนินกิจการ การวิเคราะห์การให้สินเชื่อจึงควรวิเคราะห์จากกระแสเงินสด

 

แสงชัย  ธีรกุลวาณิช

 

4.มาตรการยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร โดยให้สถาบันการเงินไม่นําข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโร ในช่วงการแพร่ระบาดมาพิจารณาการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ mSMEs เป็นระยะเวลา 2 ปี

 

5.มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ โดยให้มืออาชีพเข้ามาบริหารกองทุน รวมทั้งต้องจัดระบบผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาธุรกิจ mSMEs เพื่อเป็นพี่เลี้ยง และให้คําแนะนําในการดําเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีวินัยทางการเงิน บัญชี และเพิ่มขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง

 

6.กองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย ปัจจุบัน mSMEs จํานวนมากที่ติดกับดักทางการเงินเป็น NPLs ปัจจุบันกว่า 241,734 ล้าน บาท หรือ 7.34% ของวงเงินสินเชื่อ mSMEs ทั้งระบบ 3,292,457 ล้านบาท (ไตรมาส 1 ปี 2564 ธปท.) รัฐบาลควรเร่งดําเนินการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย เป็นการด่วนเพื่อให้ mSMEs ที่เป็น NPLs จาก ผลกระทบโควิด 19 และก่อนหน้านี้ ได้รับการดูแล แก้ไข ปรับปรุงหนี้อย่างเป็นระบบ และสามารถถอดบทเรียน บ่มเพาะให้ mSMEs เหล่านี้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ และอยู่ในระบบฐานภาษี ของรัฐ

ไฟเขียวซีลรูทต่างชาติอยู่ภูเก็ต 7 วัน

 แหล่งข่าวจากที่ประชุม ศบศ. เผยว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วมโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) โดยนักท่องเที่ยวพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 7 วัน และสามารถเดินทางท่องเที่ยวและต้องพำนักในพื้นที่ที่กำหนดหรือซีลรูท อีกเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน

 

โดยพื้นที่ซีลรูท ได้แก่ (เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) จังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) จังหวัดพังงา มีกำหนดเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดแผนการเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่นำร่องอื่น และให้พิจารณาจัดทำแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณาต่อไปด้วย

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3669 วันที่ 25-28 ก.ค. 2564