ทีทีบีลุ้นธปท. พัฒนา“ดิจิทัลเช็ค”

30 มิ.ย. 2564 | 11:25 น.

ธปท.เผยยอดใช้เช็คลดลงต่อเนื่อง หลังพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ปี 61 ทีทีบีชี้ ธุรกิจรายใหญ่และเอเอ็มอี หันใช้ดิจิทัลมากขึ้น เหตุเชฟต้นทุนทางการเงินและเวลา

หลังจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ดำเนินนโยบายชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2561 พบว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาปริมาณการใช้เช็คทยอยปรับลดลงอย่างมาก เห็นได้จากปริมาณการเรียกเก็บเช็คทั่วประเทศ เดือนพฤษภาคมปี 2564 พบว่า มีปริมาณ 3.52 ล้านรายการ ลดลง 43.43% และมีมูลค่า 2.03 ล้านล้านบาท ลดลง 37.18% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2560 ที่มีปริมาณการใช้เช็ครวมทั่วประเทศ 6.23 ล้านรายการ และมีมูลค่า 3.23ล้านล้านบาท

 

ทั้งนี้จากปริมาณการเรียกเก็บเช็คทั่วประเทศเดือนพฤษภาคมปี 2564 คิดเป็นเช็คเรียกเก็บเฉลี่ยต่อวัน 195,809 รายการลดลง 34%  มูลค่า 1.13 แสนล้านบาทลดลง 26.70% เช็คคืนรวม 45,332 รายการลดลง 51.07% มูลค่า 1.11 หมื่นล้านบาทลดลง  32.06% และเช็คคืนไม่มีเงิน 30,391 รายการ ลดลง 53.33%  มูลค่า 5,520 ล้านบาทลดลง 39.73%   

 

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb)เปิดเผยว่า แนวโน้มปริมาณการใช้เช็คย้อนหลัง 5 ปีปรับลดลงทุกปี ซึ่งในมุมของธนาคารจะค่อยๆ ย้ายลูกค้าไปทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล ขณะที่ธปท.เองมีแนวคิดจะพัฒนาดิจิทัลเช็ค ซึ่งเชื่อว่า ขณะนี้้ทุกธนาคารพร้อมร่วมมือผลักดันเรื่องดิจิทัลเช็ค และต้องการให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว

 

เสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต

อย่างไรก็ตามคนใช้เช็คมี 2 วัตถุประสงค์คือ ข้อผูกพันทางกฎหมาย เช่นสัญญาว่าจะจ่ายและมีโทษทางอาญา ซึ่งสามารถใช้ดิจิทัลเช็คได้ เพราะถ้าใช้ดิจิทัลเช็ค ก็ยังคงคุณสมบัติเรื่องข้อผูกพันทางกฎหมาย และอีกวัตถุประสงค์คือ การจ่ายเช็คเพื่อควบคุมธุรกิจ แต่แนวโน้มเริ่มเห็นกิจการที่สืบทอดธุรกิจรุ่นสู่รุ่นมีการปรับใช้ดิจิทัลมากขึ้นทำให้เลิกใช้เช็คอัตโนมัติ แต่แนวทางของดิจิทัลเช็คก็สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้แล้ว

ปริมาณการใช้เช็คเดือนพ.ค.64

สำหรับธนาคารมีนโยบายเชิงรุกที่จะให้ลูกค้าใช้บริการช่องทางดิจิทัลมากที่สุด เพราะเชื่อว่า ดิจิทัลทำให้ลูกค้าสะดวกและมีต้นทุนตํ่า ที่สำคัญลูกค้าจะมีฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์เชิงธุรกิจและต่อยอดธุรกิจได้ในระยะยาว โดยแนวโน้มธนาคารอยากเห็นจำนวนธุรกรรมบนดิจิทัลเติบโต 2 หลักต่อไป ซึ่งข้อดีคือเริ่มเห็นกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงช้าที่สุด หันมาปรับใช้ดิจิทัลเร็วและแรง เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19

 

ทั้งนี้ในแง่ของการทำธุรกรรมหลักของลูกค้าทีทีบี ปัจจุบันจะแบ่งเป็นฝั่งรับและฝั่งจ่าย โดยฝั่งรับ แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจกับธุรกิจ(B2B) ซึ่งกลุ่มนี้จะมีจำนวนเงินสูงเป็นก้อนใหญ่ แต่ปริมาณรายการจะไม่มาก ส่วนกลุ่มธุรกิจกับผู้บริโภค(B2C) จะมีรายการย่อยๆ และมีปริมาณธุรกรรมมาก เช่น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งธุรกรรมแต่ละรายการ อาจจะเป็นรายได้ไม่สูง แต่ปริมาณเป็นหมื่นรายการต่อเดือน 

 

“ฝั่งรับถ้าใช้ช่องทางดิจิทัลจะสะดวกอย่างมาก และหากเป็นกลุ่ม B2B ถ้ารับเป็นเช็ค ต้องเข้าเช็คทีละใบ ส่วนฝั่งจ่ายที่ใช้กันประจำ ได้แก่ การจ่ายเงินเดือนหรือบัญชีเพย์โรล หรือ การจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภคและโอนจ่ายซัพพลายเออร์”นายเสนธิปกล่าว

 

สำหรับทีทีบี “Business One” บัญชีธุรกิจนั้น เป็นการจ่ายรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐไว้ด้วยกันในจุดเดียว ไม่ว่าจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือประกันสังคมจึงสามารถทำได้สะดวก 

 

“ทิศทางของแบงก์อยากให้ลูกค้าใช้ดิจิทัลมากที่สุด โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะเชื่อว่าลูกค้าสะดวกรวดเร็ว มีต้นทุนตํ่าไม่ทำไปทำธุรกรรมสาขาของธนาคารที่สำคัญลูกค้ามีฐานข้อมูลจากธุรกรรมรับและจ่าย สามารถนำไปใช้วิเคราะห์ธุรกิจได้มหาศาล เรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ที่เราพยายามทำความเข้าใจลูกค้า” 

 

ขณะเดียวกันในส่วนของทีทีบีก็มีแพลตฟอร์มสำหรับลูกค้าบนซัพพลายเชน สามารถใช้ใบสั่งซื้อสินค้าหรือใบแจ้งหนี้(Invoice)ขอวงเงินหมุนเวียนหรือเรียกกว่าขาย Invoice เป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย

 

ส่วนแนวโน้มความต้องการสินเชื่อนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอมาก ในมุมของธนาคารยังไม่เร่งรุกทำตลาดสินเชื่อ โดยยังมีความระมัดวังมากขึ้นในกลุ่มเอสเอ็มอี โดยให้น้ำหนักในการเข้ามาตรการช่วยเหลือและสินเชื่อฟื้นฟูของธปท. ที่จะทยอยตอบรับเรื่อยๆ เพราะต้องการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ตรงจุดมากที่สุด 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: