ผ่าโมเดล Micro-tourism เที่ยวเช้าไปเย็นกลับแบบญี่ปุ่น

16 ก.ย. 2565 | 03:45 น.

ดีแทค- สถาปัตย์ จุฬาฯ-บุญมีแล็บ เจาะลึก Micro-tourism เที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ วิเคราะห์แนวทางการท่องเที่ยวแบบญี่ปุ่น ฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมวิจัยโครงการศึกษารูปแบบการเคลื่อนที่และการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านข้อมูลการเคลื่อนที่ (mobility data) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล mobility data เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองที่เกิดจากการวิจัยร่วมกันระหว่างดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ พบว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยยังคงเดินทางท่องเที่ยวแบบ “เช้าไปเย็นกลับ”  โดยมีค่าเฉลี่ยการเดินทางต่อเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 150 กิโลเมตร 

ผ่าโมเดล Micro-tourism เที่ยวเช้าไปเย็นกลับแบบญี่ปุ่น

ผลการวิเคราะห์พบว่า เมืองรองบางจังหวัดมีศักยภาพในการดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ จากพื้นที่โดยรอบได้เป็นอย่างดี เช่น ลำพูน เชียงราย นครศรีธรรมราช สามารถดึงดูดการเดินทางการท่องเที่ยวแบบไปกลับจากจังหวัดอื่นในระยะ 150 กม. ได้ในสัดส่วนสูงถึง 40 – 60% ของจำนวนทริปทั้งหมด ขณะที่ค่าเฉลี่ยรวมของกลุ่มจังหวัดเมืองรองมีเพียง 14% เท่านั้น   

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ Mobility data ชี้ให้เห็นว่า เมืองรองบางจังหวัด สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ ให้เดินทางมาเยือนได้ในระยะทางมากกว่า 200 กิโลเมตร เช่น แม่ฮ่องสอน ระนอง น่าน เพชรบูรณ์ นครพนม และยังพบว่าเมืองรองบางแห่ง มีความสามารถในการดึงดูดปริมาณการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับได้มากกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มเมืองรองด้วยกันเองถึง 3 – 5 เท่า เช่น นครนายก ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง  

ผ่าโมเดล Micro-tourism เที่ยวเช้าไปเย็นกลับแบบญี่ปุ่น

เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันจะพบว่า จังหวัดที่มีศักยภาพในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับอย่างโดดเด่นในกลุ่มเมืองรองประกอบด้วย 16 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม สุพรรณบุรี และชุมพร ตามลำดับ

  • ผ่าโมเดล Micro-tourism ของญี่ปุ่น

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ อธิบายว่า การท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับนี้ เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวภายในประเทศที่สามารถสร้างการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์  โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น มีความพยายามโดยภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Micro-tourism หรือการส่งเสริมประชาชนเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ธรรมชาติ สวนเกษตรกรรม และเมืองเก่าในต่างจังหวัด ที่ตั้งอยู่โดยรอบถิ่นที่อยู่ของตน ในระยะเดินทางที่ใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง (ประมาณ 150 กิโลเมตร)  

 

แนวคิดนี้เกิดขึ้นจากการที่ประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศคิดเป็น 60% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด จึงเกิดเป็นแนวคิดในการกระตุ้นให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวไปยังท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น ภายใต้แนวคิดการส่งเสริม Exchange population หรือ ประชากรที่ก้าวข้ามถิ่น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเพื่อรับมือกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ

ผ่าโมเดล Micro-tourism เที่ยวเช้าไปเย็นกลับแบบญี่ปุ่น

ในขณะเดียวกัน หลังช่วงปี 2010 เป็นต้นมา ชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยแรงงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ได้หันมาให้ความสนใจในการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวมองว่า การศึกษาในห้องเรียนและการกวดวิชาเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และความสามารถในการดำรงชีวิตในอนาคต แต่เป็น “ประสบการณ์” ในการใช้ชีวิตและการเรียนรู้จากการได้พบปะผู้คนในสังคม พ่อแม่จึงเริ่มพาเด็กออกนอกห้องเรียน ไปตกปลา เรียนรู้การทำเกษตร จักสานและอุตสาหกรรมต่างๆ 

 

“การก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ประกอบกับการกระตุ้นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีเกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นต่างๆ พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวในกระบวนการผลิตของตน เพื่อดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับในช่วงเสาร์อาทิตย์ ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งพ่อแม่ที่ได้ไปพักผ่อนหย่อนใจ ขณะที่ลูกๆ ก็ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนต่างท้องที่ เกิดเป็นกระแสการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบ Micro-tourism ตามเมืองและชุมชนต่างๆ” 

  • Micro-tourism ลดความเปราะบางภาคท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้มีต้นทุนทางฝั่งซัพพลายหรือผู้ให้บริการมากนัก ในปีช่วงปี 2000 การท่องเที่ยวญี่ปุ่นจึงมีนโยบายในการใช้ Service Design หรือการออกแบบบริการ ซึ่งหมายถึง การออกแบบรูปแบบบริการให้มีกิจกรรมที่นักท่องเที่ยว สามารถมีส่วนร่วมได้ในกระบวนการผลิต เช่น การทำเส้นอูด้งที่ผลิตจากข้าวในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ผักและมิโซะในแต่ละพื้นที่ ทำให้ซุปที่มีรสชาติแตกต่างกัน ทำให้แต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่นมี “อูด้ง” ที่ขึ้นชื่อของเป็นของตัวเอง   ผ่าโมเดล Micro-tourism เที่ยวเช้าไปเย็นกลับแบบญี่ปุ่น

การพัฒนา Micro-tourism ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอยู่ในกระบวนการผลิต ทำให้เกิดกิจกรรมการทำเส้นอูเด้งโดยนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมเรื่องวัตถุดิบและอุปกรณ์ ขณะที่นักท่องเที่ยวก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำเส้นอูด้ง เกิดการท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้แบบเช้าไปเย็นกลับที่วัยแรงงาน ครอบครัว ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วม ระลึกความหลัง ประเพณีและวัฒนธรรมทางอาหาร

 

นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากจังหวัดข้างเคียงเดินทางมาท่องเที่ยวซ้ำในพื้นที่บ่อยๆ หลายเมืองในประเทศญี่ปุ่น จึงเกิดการปรับปรุงพื้นที่เมืองให้มีทัศนียภาพสวยงาม ตอบสนองความต้องการท่องเที่ยวในยุคแห่งคอนเทนท์ ที่ต้องรูปถ่ายสวยๆ จากการท่องเที่ยวแชร์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และยังนำมาสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางเดินและทางจักรยาน  ระบบขนส่งมวลชน ห้องน้ำสาธารณะ การพัฒนาคุณภาพการบริการในร้านค้าและร้านอาหาร รวมไปถึงการผลิตของฝากประจำเมือง ดังที่เรามักพบเห็นกัน เมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจังหวัดโดยรอบเท่านั้น ยังสร้างความภาคภูมิใจและความสะดวกสบายให้กับประชาชนในเมืองอีกด้วย

“ผมมองว่า เมืองรองอาจจะต้องใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ ซึ่ง Micro-tourism อาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนต่างๆ ควรต้องร่วมมือกันดำเนินการให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ในช่วงการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19นี้ เพราะตอนนี้ความต้องการด้านการท่องเที่ยวกำลังเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและในตลาดโลก 

หากสามารถช่วยกันหายุทธวิธีในการกระจายนักท่องเที่ยว ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการพัฒนาฐานการท่องเที่ยวในเมืองรอง จะช่วยให้เรามีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต”  

 

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ ย้ำอีกว่า นี่คือ “Turning point” สำคัญของการรื้อโครงสร้างการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานรากของไทย ก่อนที่สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะแบบเดิมในยุคก่อนโควิด-19