ประวัติความเป็นมา "เทศกาลกินเจ" ที่หลายคนยังไม่รู้

10 ต.ค. 2566 | 23:20 น.

การกินเจ มีมาตั้งแต่โบราณกาล โดยชาวจีนถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน เทศกาลกินเจจะเริ่มตั้งแต่ 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 นับตามปฏิทินจีน ซึ่งตรงกับเดือนตุลาคมของไทยเรา ตำนานเล่าว่า เมื่อเล่าจื๊อ ศาสดาแห่งลัทธิเต๋าเกิดขึ้น ได้ถือพรต(กินเจ)ของลัทธิเต๋าแต่นั้นมา

 

ในยุคอดีตนั้น การกินเจ ไม่มีการกำหนดว่าจะกินกันเมื่อไร แต่ถือเอาความสะดวกของผู้กิน จะกินวันไหน เดือนไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนนิยมกินเจในช่วงไว้ทุกข์ เพื่อเป็นการปฏิบัติตนในทางที่ดีงามและเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย

ต่อมาเมื่อเกิดกบฏไท้เผ้ง ซึ่ง ชาวจีน ได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านและหวังกอบกู้แผ่นดินจากพวกแมนจู ผู้ก่อการกบฏถูกจับประหารชีวิต ยังความโศกเศร้าเสียใจให้กับชาวจีน จึงร่วมกันปฏิบัติธรรม โดยกินเจและถือศีล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ถูกประหารชีวิต การกินเจจึงถูกกำหนดให้เป็นเทศกาลตั้งแต่นั้นมา

เมื่อถึง เทศกาลกินเจ ชาวจีนจะนุ่งขาวห่มขาว เพื่อแสดงถึงการตัดกิเลสจากโลกภายนอก ถือศีล กินเจ โดยปฏิบัติดังนี้

  1. งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ อันเป็นเหตุให้ไม่ต้องแสวงหาเนื้อสัตว์ หรือทำอันตรายต่อชีวิตสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ในทุกกรณีรวมทั้งน้ำนมและน้ำมัน ที่มาจากสัตว์อีกด้วย
  2.  รักษาศีลห้าและรักษาพรหมจรรย์
  3. ทำบุญทำทาน
  4.  รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์
  5. แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายสีขาว
  6. งดเว้นผักที่ให้กลิ่นแรงต่างๆ เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม ต้นหอม กุยช่าย เพราะถือว่าเป็นสิ่งกระตุ้นอารมณ์

เทศกาลกินเจเริ่มตั้งแต่ 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 นับตามปฏิทินจีน

เมื่อการกินเจกำหนดเป็นเทศกาลขึ้น และมีกำหนดถึง 9 วัน ทำให้เทศกาลกินเจขยายใหญ่ขึ้นทุกที จนกลายเป็นงานที่ใหญ่และสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวจีน งานการกุศลต่างๆ จึงมารวมกันในเทศกาลนี้ เช่น การทิ้งกระจาด การลอยกระทงสะเดาะเคราะห์ สิ่งเหล่านี้ถูกนำเข้ามาทีหลังเพื่อเสริมให้เทศกาลกินเจดูยิ่งใหญ่ขึ้น

เทศกาลกินเจของไทย

ในช่วงเทศกาลกินเจ เราจะเห็นตามร้านอาหารทั่วไปปักธงสีเหลืองเต็มไปหมด นั่นหมายถึง การเข้าสู่เทศกาลกินเจของคนจีน ที่ปวารนาตนจะงดอาหารที่มีเนื้อสัตว์ พร้อมทั้งถือศีลทำบุญทำทานเป็นเวลา 9-10 วัน เพื่อเป็นการชำระทั้งร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์

ประเพณีการกินเจในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เชื่อว่าเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน (ชาวจีนในบางพื้นที่จึงเรียกเทศกาลกินเจว่า “เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9”) หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ประชาชนถวายพระนามว่า "เก้าอ๊วง" ซึ่ง เทพทั้งเก้าของชาวพุทธมหายาน นั้น ได้แก่

  • พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ ปรากฏตนเป็นพระอาทิตย์ จีนเรียก "ไท้เอี้ยงแซ"
  • พระศรีรัตนะโลกประภาโฆษอิศวรพุทธะ ปรากฏตนเป็นพระจันทร์ จีนเรียก "ไท้อิมแซ"
  • พระเวปุลลรัตนโลกสุวรรณพุทธะ ปรากฏเป็นดาวอังคาร จีนเรียกว่า "ฮวยแซ"
  • พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ ปรากฏเป็นดาวพุธ จีนเรียกว่า "จุ้ยแซ"
  • พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธ ปรากฎเป็นดาวพฤหัสบดี "บักแซ"
  • พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ ปรากฎเป็นดาวศุกร์ "กินแซ"
  • พระเวปุลลจันทร์โลกไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ ปรากฎเป็นดาวเสาร์  "โท้วแซ"
  • พระศรีสุขโลกปัทมครรภอลังการโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นดาวราหู "ล่อเกาแซ"
  • พระศรีเวปุลลสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ ปรากฎเป็นดาวเกตุ "โกยโต้วแซ"

ศาลพระแม่กวนอิมสวนหมาก จ.สงขลา

ในพิธีกรรมสักการบูชาพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์นี้ สาธุชนในพระพุทธศาสนาต่างสละเวลาและกิจทางโลกมาบำเพ็ญศีล ตั้งปณิธานกินเจ บริโภคแต่อาหารผลไม้ งดเว้นอาหารเนื้อสดของคาวด้วยการสมทานรักษาศีล และเพื่อซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย วาจา ใจ ต่างสวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากจุดด่างพร้อย พากันเดินทางสู่วัดอารามพร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ไปนมัสการน้อมบูชาแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ อีกทั้งพระมหาโพธิสัตว์ 2 พระองค์ พร้อมจัดหาเครื่องกระดาษทำเป็นรูปทรงเสื้อผ้า, หมวก, รองเท้า, กระดาษเงินกระดาษทองต่างๆ ไปน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะ เป็นกุศลสมาทาน

ดังนั้น เชื่อกันว่า ในช่วงนี้ถ้าใครถือศีลกินเจพร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอพรอันใดก็จะได้สมปรารถนา นอกจากนี้ คนที่กินเจยังนิยมไปไหว้เจ้าตามศาลเจ้าเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง ซึ่งศาลเจ้าในกรุงเทพฯ ที่คนนิยมไปไหว้ อาทิ วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส), ศาลเจ้าไต้ฮงกง ตรงข้าม สน.พลับพลาไชย, โรงเจชิกเชี้ยม่า ตลาดน้อย และโรงเจเตี่ยชูหั้ง สำเพ็ง เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง