รู้จักปรากฏการณ์ “บาร์เบนไฮเมอร์” ที่สะเทือนวงการหนังทั่วโลก

25 ก.ค. 2566 | 07:23 น.

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวภาพยนตร์ 2 เรื่องในอเมริกา นั่นคือ “Barbie” และ “Oppenheimer” ที่สร้างความคึกคักให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “บาร์เบนไฮเมอร์” คำนี้คืออะไรและสร้างปรากฎการณ์ไปทั่วโลกอย่างไร ฐานเศรษฐกิจจะพาไปหาคำตอบ

การเปิดตัวร่วมกันของ “Barbie” และ “Oppenheimer” ทำรายได้รวมกัน 302 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,427 ล้านบาท) โดย 'Barbie' ที่กำกับโดยผู้กำกับหญิง “เกรตา เกอร์วิก” รายได้เปิดตัว 70.5 ล้านดอลลาร์ (2,434 ล้านบาท)  และทำรายได้รวมถึง 155 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,352 ล้านบาท) ทั้งในสหรัฐและแคนาดา  ครองแชมป์บ็อกซ์ออฟฟิศ ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับ 4  

ส่วน “Oppenheimer” กำกับโดย “คริสโตเฟอร์ โนแลน” ทำรายได้เปิดตัวไป 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,139 ล้านบาท)   นับเป็นชัยชนะของเขา เพราะรายได้เปิดตัว แซงหน้าผลงานเรื่องก่อนๆของเขา อย่าง “Inception”  22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (759 ล้านบาท)   และ “Dunkirk” 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (690 ล้านบาท) 

คำว่า “บาร์เบนไฮเมอร์” มาจากชื่อเรื่องภาพยนตร์ 2 เรื่อง “Barbie” และ “Oppenheimer”  ที่มีเนื้อหาที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว “Barbie” เป็นภาพยนตร์ตลกแฟนตาซีเกี่ยวกับโลกของบาร์บี้ ที่ใช้ชีวิตอยู่โลกสุดแสนจะสมบูรณ์แบบ กระทั่งได้มาเยือนโลกแห่งความเป็นจริงร่วมมนุษย์

ขณะที่ “Oppenheimer” เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติระดับมหากาพย์ เกี่ยวกับนักฟิสิกส์ “เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์” ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ของโครงการแมนฮัตตัน ผู้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ชิ้นแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื้อหาที่ "ตรงกันข้ามอย่างสุดขั้ว" ทำให้ผู้คนในโลกออนไลน์ ต่างมองเป็นเรื่องขำขัน  และถือเป็น "ปรากฏการณ์ภาพยนตร์แห่งปี"

แม้ว่าปรากฏการณ์นี้เริ่มต้นมาจากความตลกขบขัน ในความแตกต่าง ถึงขนาดที่ว่าบุคคลในฮอลลีวูดและผู้คนในโลกออนไลน์ถกเถียงกัน ว่าควรเรียงลำดับการดูเรื่องไหนก่อน ขณะที่นักเขียนบางคนได้ชี้ให้เห็นความคล้ายคลึงกัน เพราะทั้งสองเรื่องล้วนมีแนวคิด "ทฤษฎีเกี่ยวกับมานุษยวิทยา" เหมือนกัน แถมยังมีผู้กำกับและทีมนักแสดงที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง "รางวัลออสการ์" เหมือนกัน 

 “บาร์เบนไฮเมอร์” ได้กลายเป็น "กระแสวัฒนธรรมป๊อป" ที่อาจช่วยกอบกู้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่กำลังตกต่ำ เพราะช่วงที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด 19 บรรดาโรงภาพยนตร์ทั่วโลกต่างประสบปัญหาสูญเสียรายได้ เพราะมีคู่แข่งที่ให้บริการสตรีมมิ่ง หรือ Movie on Demand เข้ามาชิงส่วนแบ่งผู้ชม  การเปิดตัวภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่อง ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เครือโรงภาพยนตร์ "คึกคักที่สุดในรอบ 4 ปี "

“พอล เดอร์การาบีเดียน” นักวิเคราะห์สื่ออาวุโสของ Comscore กล่าวว่า “เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ว่า รายได้ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แถมยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันอีกด้วย

ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องถูกฉายในช่วงฤดูร้อนโดยปราศจากคู่แข่ง โดยเฉพาะ “Barbie” เนื่องจากไม่มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่แสดงนำด้วยนักแสดงหญิงเลย นับตั้งแต่ “The Little Mermaid” ถูกฉาย

แคมเปญที่ขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “บาร์เบนไฮเมอร์” นั้น ตามรอย  'Indiana Jones and the Dial of Destiny' ที่เปิดตัวในช่วงต้นฤดูร้อน และทำรายได้ทะลุบ็อกซ์ออฟฟิศช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กวาดรายได้ไป 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2,071 ล้านบาท)ในสหรัฐอเมริกา และ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(2,417 ล้านบาท)  ในต่างประเทศ

ภาพยนตร์ “บาร์บี้” สร้างโดย Warner Bros. Pictures ภายใต้บริษัทแม่อย่าง CNN ทุนสร้าง 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5,007 ล้านบาท)  ขณะนี้ทำรายได้ไปแล้ว 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (11,637 ล้านบาท)  ส่วนภาพยนตร์เรื่อง Oppenheimer สร้างโดย Universal Pictures  ด้วยทุนสร้าง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,453 ล้านบาท)    และทำรายได้ไปแล้ว 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  (6,008 ล้านบาท) 

ที่มา CNN