Pride Month บันเทิง หอภาพยนตร์จัดโปรแกรมหนังเควียร์ไทยในตำนาน

02 มิ.ย. 2566 | 19:44 น.

หอภาพยนตร์จัดโปรแกรมต้อนรับ Pride Month ในเดือนมิถุนายน กับโปรแกรมการเดินทางของหนังเควียร์ไทย โปรแกรมคัดสรรภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศ

 

โปรแกรมการเดินทางของหนังเควียร์ไทย (Thai Queer Cinema Odyssey) เป็นโปรแกรมคัดสรร ภาพยนตร์เควียร์ไทย (Queer กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก) จัดฉายโดย หอภาพยนตร์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนมิถุนายนแห่งความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศ

โดยภาพยนตร์ที่คัดสรรมาแล้วนี้ จะนำเสนอความหลากหลายทางเพศ และจะนำมาจัดฉายต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม 2566 ซึ่งเนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลาและการหลงเหลือของฟิล์มหรือสำเนาภาพยนตร์ ทำให้จำเป็นต้องคัดเลือกภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศอย่างมีนัยสำคัญ รวมได้ประมาณ 40 เรื่องด้วยกัน

โปรแกรมดังกล่าวได้จัดแบ่งภาพยนตร์ออกเป็น 3 ชุด  โดย

โปรแกรมฉายภาพยนตร์เดือนมิถุนายน Pride Month  "โปรแกรมการเดินทางของหนังเควียร์ไทย"

ชุดแรกเป็นภาพยนตร์ ระหว่างก่อนและหลังคริสต์ทศวรรษ 2000 หรือ พ.ศ. 2543 เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นชุดหนังเควียร์คลาสสิก ที่บันทึกค่านิยมของผู้คนในยุคสมัยหนึ่งให้ได้ศึกษาใคร่ครวญ ในขณะที่หลังยุค 2000 จะมีหนังไทยเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศออกมาจำนวนมากในรูปแบบที่ต่างกันออกไป จึงได้แยกออกเป็น 2 ชุด คือ หนังเควียร์กระแสหลัก และหนังเควียร์กระแสทางเลือก

สำหรับโปรแกรมเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนนี้ มีทั้งหมด 21 เรื่อง เริ่มต้นจากชุดเควียร์คลาสสิกที่ไล่ย้อนไปตั้งแต่ วิวาห์พาฝัน (2514) หนังเพลงภาคต่อจาก เกาะสวาทหาดสวรรค์ (2512) ของดาราคู่ขวัญ สมบัติ-อรัญญา ซึ่งเต็มไปด้วยตัวละครและมุกตลกเกี่ยวกับความลื่นไหลและหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงการปรากฏบนจอของ รัชนก ณ เชียงใหม่ สาวข้ามเพศชื่อดังแห่งยุค ในบทบาทเล็ก ๆ

นอกจากนี้ ยังมี กุ้งนาง (2519) ผลงานของ ดอกดิน กัญญามาลย์ ได้พูดถึงเด็กสาวผู้ถูกปลูกฝังให้เข้าใจว่าตนเป็นชาย เพื่อไม่ให้ถูกพวกผู้ชายหลอกลวง และ นรกตะรุเตา (2519) หนังที่ตอกย้ำถึงความเชื่อของสังคมที่ว่าสภาวะความหลากหลายทางเพศถูกแก้ไขได้ (ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดร่วมอยู่ในโปรแกรม สมบัติ เมทะนี ReMASTER)

ภาพยนตร์กุ้งนาง ออกฉายในปี 2519

เรื่องอื่นๆ ยังได้แก่ วัยเรียนเพี้ยนรัก (2528) ภาพยนตร์รักวัยรุ่นที่ผู้สร้างตั้งใจจะสั่งสอนให้คนดูเห็นว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้บุตรหลานของตัวเองไม่มีพฤติกรรมที่ “เบี่ยงเบนทางเพศ” ก่อนจะมาถึง เพลงสุดท้าย (2528) ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องโศกนาฏกรรมความรักของ สมหญิง ดาวราย หญิงข้ามเพศนางโชว์ชื่อดัง ที่ได้รับความนิยมจนอยู่ในความทรงจำของคนไทย โดยจะจัดฉายไปถึงภาคต่อมาคือ รักทรมาน (2530) ซึ่งเล่าประเด็นความลื่นไหลทางเพศของตัวละครอย่างน่าสนใจ แต่ภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าภาคแรก

ในปีเดียวกันนั้นยังมี ฉันผู้ชายนะยะ (2530) ผลงานการร่วมงานของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล และ ดร.เสรี วงศ์มณฑมา ที่นำละครเวทีซึ่งดัดแปลงจากบทละครเวทีชื่อดังของอเมริกาและประสบความสำเร็จ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ว่าด้วยการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อนผู้มีความหลากหลายเพศในปาร์ตี้วันเกิด ก่อนจะเกิดคำถามถึงการยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง สิบปีต่อมา ในยุคที่ภาพยนตร์ไทยอยู่ในช่วงแสวงหาเนื้อหาความแปลกใหม่ ได้มี นางแบบ (2540) ผลงานที่ตั้งใจนำเสนอชีวิตของกลุ่มนางแบบ ซึ่งทำให้เราได้เห็นตัวละครหลากหลายทางเพศทั้งในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังวงการแฟชั่น และตัวละครร้ายในคราบ “เสือไบ”

พรางชมพู กะเทยประจัญบาน (2545)

ชุดต่อมาคือ หนังเควียร์ร่วมสมัยกระแสหลัก ที่เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 2000 ด้วยหนังที่ออกฉายในปีนั้น และสร้างความฮือฮาระดับปรากฏการณ์ นั่นคือ สตรีเหล็ก (2543) ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงของทีมวอลเลย์บอลที่ประกอบด้วยคนหลากหลายทางเพศ ตามด้วย พรางชมพู กะเทยประจัญบาน (2545) ผลงานที่ได้รับอิทธิพลสืบเนื่องกันมา ที่นำชะตาชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศมาเปรียบเทียบว่าไม่ต่างอะไรกับชีวิตของชนกลุ่มน้อย สองเรื่องต่อมาคือ ปล้นนะยะ (2547) และ หอแต๋วแตก (2550) งานกำกับของ พจน์ อานนท์ ที่ขยายภาพลักษณ์ตัวละครกะเทยให้ออกมาในรูปแบบแฟนซีและเต็มไปด้วยสีสันอย่างสุดเหวี่ยง และประสบความสำเร็จอย่างสูงจนทำให้เกิดภาคต่อมากมายจนถึงปัจจุบัน จากหนังตลกสี่เรื่องดังกล่าวไปสู่หนังรักดรามา Me...Myself ขอให้รักจงเจริญ (2550) ซึ่งตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ หนังพูดถึงการสูญเสียความทรงจำของนางโชว์จากอุบัติเหตุ จนหลงลืมอัตลักษณ์ทางเพศและเกิดความสัมพันธ์กับผู้หญิงขึ้นมา

ชุดสุดท้าย หนังเควียร์กระแสทางเลือก หรือหนังทุนอิสระ ซึ่งในวงการหนังไทยนั้นเริ่มแตกสายออกมาอย่างชัดเจนหลัง ค.ศ. 2000 เช่นกัน ในชุดนี้มี สัตว์ประหลาด! (2547) หนังเควียร์อันท้าทาย ลึกลับ และน่าพิศวงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เปิดพรมแดนให้ภาพยนตร์ไทยยุคใหม่ทั้งในด้านเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และประสบความสำเร็จอย่างสูงในแวดวงเทศกาลภาพยนตร์ ด้วยการคว้ารางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

ตามด้วย สวรรค์สุดเอื้อม Happy Berry (2547) และ Happy Berry: Oops! I Did It Again (2548) สารคดีสองภาคต่อของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ผู้กำกับหนังเควียร์นอกกระแสคนสำคัญคนหนึ่งของไทย ว่าด้วยกลุ่มเพื่อนสุดเปรี้ยว 4 คนที่ร่วมกันเปิดร้านเสื้อผ้า ซึ่งจะฉายในรายการดูหนังคลาสสิกกับ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน

ถัดมาเป็นงานของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ 2 เรื่อง คือ Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2560) ผลงานการกำกับหนังยาวเรื่องแรกของเธอ ซึ่งถูกห้ามฉายในปี 2553 ก่อนจะต่อสู้ด้วยกระบวนการยุติธรรมนานถึง 7 ปี และ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก (2555) ที่ยังคงตั้งคำถามถึงสังคมเกี่ยวกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศของคนในครอบครัวเช่นเดียวกับ Insects in the Backyard หากแต่มาในโทนที่สว่างไสวกว่า

She เรื่องรักระหว่างเธอ (2555) และ 1448 love Among Us รักเรา..ของใคร (2557) เป็นสองเรื่องในโปรแกรมที่พูดถึงความรักของตัวละครหญิงรักหญิง โดยเรื่องแรกนั้นนำเสนอความสัมพันธ์อันหลากหลายของคนหลายคู่ ในขณะที่เรื่องที่สองมุ่งเน้นตั้งคำถามถึงกฎหมายมาตรา 1448 ที่ขัดขวางไม่ให้เกิดการสมรสเท่าเทียม อันเป็นประเด็นเรียกร้องสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ปิดท้ายด้วยหนังชายรักชายสองแนวทาง คือหนังวัยรุ่นโรแมนติก Present Perfect แค่นี้ก็ดีแล้ว (2560) ที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ กับ มะลิลา (2561) ภาพยนตร์เควียร์ที่เนิบนิ่งด้วยการกำกับอันละเมียดละไมและพุทธปรัชญาที่แฝงไว้ให้ใคร่ครวญ ซึ่งเป็นตัวแทนหนังไทยที่ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาต่างประเทศในตอนนั้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงครึ่งแรกของโปรแกรม Thai Queer Cinema Odyssey ที่จะยังมีต่อเนื่องไปถึงเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนนี้ ไม่เพียงแต่หนังไทย ยังมีหนังเยอรมัน Neubau (2563) และหนังฝรั่งเศส The Wound (2560) ที่มาร่วมขบวนจัดฉายให้เลือกชมกันได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งในวันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน 2566 หอภาพยนตร์จะจัดงานเสวนาเพื่อพาผู้สนใจไปสำรวจความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์ไทยด้วย

ทุกเรื่องจัดฉายฟรี ไม่เสียค่าเข้าชม ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ถ.พุทธมณฑลสาย 5 (ทุกวันอังคาร – อาทิตย์ ดังตารางด้านบน) อ่านรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ที่ https://fapot.or.th/main/cinema/all

มีที่จอดรถ แผนที่ https://goo.gl/maps/xu8xeWKpfyRv3wk87

รถสาธารณะ : สาย 515 (4-61) ถึงหน้าหอภาพยนตร์ หรือสามารถนั่งสาย 124 547(4-63) 84ก มาลงหน้าแมคโครศาลายาแล้วเดินหรือนั่งมอเตอร์ไซค์วินต่อมาประมาณ 600 เมตร

ขอบคุณข้อมูลจาก หอภาพยนตร์ Thai Film Archive